เข้าสู่ 2 วันสุดท้ายก่อนการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำงวดวันที่ 1 สิงหาคม 25633 หลายท่านคงมีเลขเด็ดในดวงใจ ซื้อเลขกันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ ถึงอย่างไรก็ตามวันนี้แอดอยากชวนชวนทุกท่านมาไหว้พระ 9 วัด 7 จังหวัดเส้นทางสายเหนือ ที่เขาว่ากันว่าไปทีไรได้โชคถูกสลากกินแบ่งทุกรอบเลย จะมีวัดอะไรกันบ้างนั้น ไปค่ะ ไปดูพร้อม ๆ กันดีกว่า
สารบัญ
Toggle1. วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
สตาร์ทกันที่แรกที่เชียงใหม่ จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกจากวัดพระธาตุดอยสุเทพวรมหาวิหาร วัดประจำปีเกิดปีมะแม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 1972 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์มังราย วัดดอยสุเทพตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ระยะทางจากเชิงดอยขึ้นไปถึงตัววัดประมาณ 11 กิโลเมตรหรือสูงจากระดับนทะเลปานกลาง 1,046 เมตร ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้ คือมีบันไดนาคเจ็ดเศียรก่อปูน 300 ขั้นให้สาธุชนได้เดินขึ้นไป เมื่อถึงตัววัดจะพบเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูง ย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยม ปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ซึ่งเป็นการก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา ด้านในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งพญากือนา ได้อันเชิญมาประดิษฐานไว้ แขกไปใครมาเชียงใหม่ หากไม่ได้มาไหว้พระธาตุก็เหมือนมาไม่ถึง
ความเชื่อ : เชื่อว่าหากได้มาสักการะและอธิษฐานขอพรกับพระธาตุดอยสุเทพ จะสมหวังดังปรารถนา แคล้วคลาด และผ่านอุปสรรคทุกอย่างไปได้ด้วยดี
วิธีการบูชา : เตรียมดอกไม้ธูปเทียน แล้วเดินวนพระธาตุ 3 รอบ พร้อมกล่าวคำนมัสการพระธาตุ และควรไหว้พระธาตุให้ครบทั้ง 4 ทิศ
คำไหว้พระบรมธาตุดอยสุเทพ :
(ตั้งนะโม 3 จบ)
สุวัณณะเจติยัง เกสาวะระมัตถะลุงคัง วะรัญญะธาตุง สุเทวะนามะกัง นะระเทเวหิ สัพพะปูชิตัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
2. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่
น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักวัดพระสิงห์ วัดประจำปีเกิดปีมะโรง อีกหนึ่งวัดชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิม วัดพระสิงห์ มีชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” คำว่า “ลี” เป็นภาษาล้านนา แปลว่า “ตลาด” ด้วยความที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดจึงตั้งชื่อวัดเป็นชื่อดังกล่าว วัดแห่งนี้สร้างเมื่อปีพ.ศ.1888 โดยพญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์มังราย วัดพระสิงห์นั้นประดิษฐาน พระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนโบราณ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริดหุ้มทอง สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 700 และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระสิงห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและจะเดินทาง มาเคารพ สักการะกันอย่างเนื่องแน่นเป็นประจำ
คำบูชาพระธาตุ :
(ตั้งนะโม 3 จบ)
นะมามิ พิมพาสุขนาทิปูชัง สุรูปธารัง ติวาภิรัมมัง ติโลกะเชฏะฐัง วะระกิตติมันตัง ภะสิหะคะสุขัง อะหัง วันทามิ ทุระโต
3. วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
ถัดจากเชียงใหม่เราลงมาที่กลางเมืองลำพูนกันบ้าง วัดพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกาแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดน่านเพียง 150 เมตรเท่านั้น เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สมัยของพญาอาทิตยราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ โดยพื้นที่วัดนั้นเคยเป็นพระราชฐานของพระองค์ ภายหลังก็ได้พระราชทานอุทิศถวายให้เป็นวัดพระธาตุฯ เพื่อเป็นพุทธบูชาหลังจากที่พระบรมสารีริกธาตุได้ปรากฏ ให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรในบริเวณดังกล่าว
ความเชื่อ : เนื่องจากพระธาตุหริภุญไชย เป็นพระธาตุประจำปีระกา จึงเชื่อกันว่าหากผู้ที่เกิดปีนี้ได้มากราบไหว้ขอพรก็จะเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต
คำบูชาพระธาตุหริภุญชัย
(ตั้งนะโม 3 จบ)
สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐังสะหะอังคุลิฏฐิง กัจจายะเนนา นิตะปัตตัปปะรัง สีเสนะ มัยหังปะระมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
4. วัดพระธาตุดอยกองมู จ.แม่ฮ่องสอน
วัดพระธาตุดอยกองมู วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองแม่ห้องสอน แต่เดิมชื่อ วัดปลายดอย ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกกันตามชื่อดอย ซึ่งคำว่า “กองมู” เป็นภาษาไทยใหญ่ หมายถึง “พระเจดีย์” ปูชนียสถานแห่งนี้ประกอบด้วยพระธาตุเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญสีขาว 2 องค์ ได้แก่ พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ สร้างโดยพ่อค้าชาวไทใหญ่ชื่อ จองต่องสู่ เมื่อ พ.ศ. 2403 ด้านในบรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระ ซึ่งนำมาจากประเทศพม่า ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กสร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยพระยาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระสารีบุตรเถระ จะเห็นได้ว่าศิลปะการสร้างนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบของไทยใหญ่และพม่า หากไปถึงแม่ฮ่องสอนก็อย่าลืมแวะไปขอพรกับพระธาตุเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต และชื่นชมกับบรรยากาศรอบเมือง 3 หมอกแบบ 360 องศาได้ที่วัดแห่งนี้
ความเชื่อ : เชื่อว่าหากได้มาสักการะและอธิษฐานขอพรกับพระธาตุดอยกองมู จะส่งผลให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับชีวิต และเสริมโชคชะตาให้แก่ตนเองและครอบครัว
วิธีการบูชา : นำเครื่องสักการะประกอบด้วยพานดอกไม้ ธูป เทียนบูชาที่ทางวัดจัดไว้ให้เดินเวียนขวารอบพระธาตุ 3 รอบ เสร็จแล้วให้นำดอกไม้ธุปเทียนไปวางไว้ บริเวณพระจำวันเกิดซึ่งประดิษฐานอยู่รอบเจดีย์
5. วัดพระธาตุแม่เย็น จ.แม่ฮ่องสอน
เข้าสู่วัดที่ 5 ในวันนี้เรายังอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเช่นเดิม แต่มูฟไปอำเภอปาย อำเภอแห่งสายหมอกท่ามกลางขุนเขา ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวอำเภอปาย มีวัดศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองปายมาช้านาน ชื่อวัดพระธาตุแม่เย็น ตามประวัติแล้วไม่ทราบว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยใด จุดเด่นของวัดแห่งนี้มีพระพุทธโลกุตระมหามุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาวองค์สีขาวขนาดใหญ่ บนภูเขาซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดถึง 300 ขั้นเพื่อไปไหว้สักการะ ด้านหลังอุโบสถเป็นที่ตั้งของเจดีย์เก่าหรือที่เรียกว่า “เจดีย์พระธาตุแม่เย็น” เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาวฐานกลม สูงประมาณ 3 เมตร ยอดฉัตรแบบเจดีย์พม่า จากบริเวณวัดสามารถชมวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองปาย – แม่น้ำปายได้อีกด้วย โดยช่วงเวลาที่คนนิยมจะเป็นช่วงก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
6. วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณกาลและได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดแห่งล้านนา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนปีฉลู เนื่องจากเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากพระธาตุหริภุญไชยและพระธาตุจอมทอง ภายในอง์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและ พระอัฐิธาตุ จากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่ หนานทิพย์ ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่
ความเชื่อ : เชื่อว่าหากได้มาสักการะและอธิษฐานขอพรกับพระธาตุลำปางหลวง จะส่งผลให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับชีวิต โดยเฉพาะคนที่เกิดปีวัวหรือปีฉลู หากได้มาไหว้พระธาตุที่นี่ยิ่งในชั่วงปีใหม่ก็จะถือเป็นการดี
คำบทสวดบูชาพระธาตุลำปางหลวง :
(ตั้งนโม 3 จบ)
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง ปะติฎฐาลัมภะ กัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตุราภิทัยยา
นะมามิ หันตัง วะระชินะธาตุง กุมาระกัสสะปะ นะลาตะธาตุโย เมฆิยะมะหาเถโร กะนะธาตุง ฐะเปติ มหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระเทเวหิ อะหังวันทามิ ธาตุโย
7. วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย
วัดร่องขุ่น ตั้งอยู่ในต.ป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จ.เชียงราย ถูกออกแบบและสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยมีต้นแบบมาจาก วัดมิ่งเมือง จ.น่าน ด้วยความปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ของอาจารยืเฉลิมชัยบวกกับแรงบันดาลใจจาก 3 สิ่ง คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงทำให้วัดเล็ก ๆ ซึ่งเคยอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมกลายเป็นศาสนสถานที่สวยงาม ภาพวัดสีขาวอันตระการตาที่ปรากฎอยู่ตรงหน้านั้นล้วนมีความหมายดังต่อไปนี้
สีขาว : พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
สะพาน : การเดินข้ามจากวัฎสงสารสู่พุทธภูมิ
เขี้ยว หรือ ปากพญามาร : กิเลสในใจ
สันของสะพาน : มีอสูรอมกัน ข้างละ 8 ตัว 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16
กึ่งกลางของสะพาน : เขาพระสุเมรุ
ดอกบัวทิพย์ : มี 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
บันไดทางขึ้น : มี 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
8. วัดพระธาตุเขาน้อย จ.น่าน
วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่บนยอดเขาน้อย ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน จ.น่าน เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเก่าแก่แห่งหนึ่งประจำจังหวัด ถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปี พ.ศ. 2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ รูปแบบการก่อสร้างเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะพม่ากับล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าองค์พระธาตุมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง จากวัดพระธาตุเขาน้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ ประดิษฐานพระพุทธมหา อุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
9. วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
วันสุดท้ายจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากวัดพระธาตุช่อแฮ หรือพระธาตุประจำปีขาลแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ต.ช่อแฮ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ นับเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ หากใครมาเที่ยวแพร่แล้วไม่ได้มาสักการะพระธาตุช่อแฮละก็ถือว่ามาไม่ถึง องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ ศิลปะเชียงแสน แบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ด้านในประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า ชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี
จากพระราชพงศวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติกล่าวว่า พระธาตุช่อแฮสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879 – 1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังทรงเป็นพระมหาอุปราชซึ่งครองเองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก)อยู่ในครั้งนั้น พระองค์ได้เสด็จแก่ประชาชนและทรงโปรดให้สร้างสถานที่ทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่างๆ และเลือกยอดดอยโกสิยธชัคคะ เพื่อนเป็นที่สร้างพระเจดีย์พระธาตุช่อแฮ
ความเชื่อ : ด้วยความที่เป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ราศี คือ เป็นพระธาตุประจำปีขาล จึงเชื่อว่าหากถวายผ้าแพรเนื้อดีต่อองค์พระธาตุช่อแฮ จะทำให้ชีวิตมีความผาสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต หน้าที่การงาน และมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้
คำไหว้พระธาตุ :
โกเสยยะธะชัคคะปัพพะเต สัตตะมะโนรัมเม พุทธะเกสาธาตุ ปะติฏฐิตา อะหัง วันทามิ สัมพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส ข้าพเจ้าขอไหว้พระเกศาธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประดิษฐานอยู่บนธชัคคบรรพตแห่งเมืองโกศัย อันเป็นที่รื่นรมย์ใจของชนทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงในกาลทุกเมื่อแล
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ทัวร์ครบ 9 วัด 7 จังหวัดกันในนี้แล้ว ก็อย่าลืมไปไหว้ขอพรกับองค์พระธาตุกันด้วยนะคะ ถึงแม้ว่าในทัวร์ 9 วัดที่แอดได้นำเสนอให้นั้นจะไม่ได้มีวิธีการขอโชค ๆ กันแบบตรง ๆ แต่แอดเชื่อค่ะว่าด้วยแรงศรัทธาของทุกท่านที่มีต่อองค์พระธาตุ คุณงามความดี รวมถึงผลบุญที่ท่านนั้นเคยสั่งสมมา ทั้งหมดทั้งมวลองค์พระธาตุคงเห็น แล้วประทานพรมาให้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่หากอย่างเสียงโชคจริง ๆ แอดแนะนำว่านำเลขปีที่ก่อตั้ง อายุของวัด เลขสำคัญ ๆ อย่าง จำนวนขั้นบันได ไปลองเสี่ยงโชคดูกันก็ไม่เสียหายค่ะ อย่างไรก็ตามการจะถูกเลข ถูกหวยนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของโชค และจังหวะเวลาอันเหมาะสม เสี่ยงเลขเสี่ยงโชคอย่างมีวิจารณญาณเพื่อประโยชน์สูงสูดต่อตัวท่านเอง