ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่สืบสานต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน โดยมีวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นที่มีรูปแบบแตกต่างกันไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร และสภาพแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในประเพณีที่เหมาะกับช่วงเวลาและสถานการณ์บ้านเมืองของเราในตอนนี้ก็คือ “พิธีสืบชะตา” ที่เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุบ้านเมือง หรือต่อชีวิตคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ ขจัดภัยอันตรายต่าง ๆ
ปัจจุบันเรียกได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มรสุมด้านการเมือง มรสุมด้านเศรษฐกิจ และมรสุมด้านสังคม ที่ส่งผลต่อการเป็นอยู่ของเราทุกคน ฉะนั้นแล้วหากต้องการให้เป็นมงคล มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป ทางเรา Ruay365.com จึงอยากมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับความเชื่อเรื่อง พิธีสืบชะตา นี้จะช่วยก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่จะสู้กับชะตาชีวิตต่อไปได้
สารบัญ
Toggleรู้จัก พิธีสืบชะตา ประเพณีสำคัญต่อชีวิตและต่อชีวิตบ้านเมือง
พิธีสืบชะตาเป็นประเพณีสำคัญของชาวล้านนาที่นิยมทำกันหลายโอกาส เช่น เนื่องในวันเกิด วันได้รับยศศักดิ์ตำแหน่ง วันขึ้นบ้านใหม่ กุฏิใหม่ เป็นต้น เชื่อกันว่าเป็นการสืบชะตากำเนิดให้ยืดยาวต่อไป ผู้ที่เข้าพิธีสืบชะตา ชีวิตจะมีความสุข ความเจริญ และช่วยขจัดภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย
ประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของไทย ต่างยึดมั่นและถือปฏิบัติกันประเพณีกันอยู่ เพราะเชื่อว่าทุกข์ภัยทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง และญาติพี่น้องจะหมดหายไป โดยส่วนมากผู้คนจะหลั่งไหลไปร่วมทำบุญสืบชะตาบ้าน ชะตาเมือง บูชาเทียนประจำวันเกิด ลดเคราะห์ บูชาโชค แก้ปีชง กันอย่างคึกคักตามวัดที่จัดพิธี
อีกทั้งเชื่อว่าก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานพร้อมที่จะสู้กับชะตาชีวิตต่อไป ซึ่งการทำพิธีสืบชะตา แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
พิธีสืบชะตาคน
นิยมทำเมื่อขึ้นบ้านใหม่ ได้ตำแหน่งใหม่ วันเกิดที่ครบรอบ 12 ปี ฟื้นจากป่วยหนัก หรือมีผู้ทักทายว่าชะตาไม่ดีจำเป็นต้องสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตา
พิธีสืบชะตาบ้าน
นิยมทำเมื่อคนในหมู่บ้านประสบความเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วยหรือตายติดต่อกันเกิน 3 คนขึ้นไป คนในหมู่บ้านพร้อมใจกันจัดในวันปากปี ปากเดือน หรือปากวัน คือวันที่หนึ่ง สอง หรือสามวันหลังวันเถลิงศก เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
พิธีสืบชะตาเมือง
จัดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อน จะด้วยตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ หรือเพราะเหตุปั่นป่วนวุ่นวาย การจลาจล เกิดโรคภัยแก่ประชาชนในเมือง จะจัดพิธีให้อายุของเมืองดำเนินต่อเนื่องสืบไป
การประกอบพิธี และ ขั้นตอนพิธีสืบชะตา
การทำพิธีสืบชะตามักทำในห้องกว้าง หรือหากจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีมีจำนวนมาก ก็มักจะใช้สถานที่ใหญ่ขึ้นอีก เช่น วิหารวัด หรือสร้างปะรำพิธีขึ้นเป็นพิเศษ โดยจะมีซุ้มที่ทำจากไม้ยาวสามท่อนผูกปลายบนรวมกันเป็นรูปกระโจม บนท่อนไม้มีกล้วยอ้อยผูกติดไว้บนยอดกระโจมมีดอกไม้ธูปเทียน และอื่น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างตามท้องถิ่นและตามตำราของผู้ประกอบพิธี
ผู้ทำพิธีจะกล่าวคัมภีร์และบทสวดที่ใช้ประกอบพิธีสืบชะตาหลายบท ประกอบด้วย
- มหาทิพพมนต์
- อุณหัสสะวิไชย
- โลกาวุฒิ
- สะลาถะวิชชาสูตร
- พุทธะสังคะหะโลก
- มหาไชยมงคล
และบางครั้งให้ผู้เข้าพิธีทำตามคำสั่งด้วย เช่น นำด้ายสายสิญจน์ที่แขวนลงมาจากกระโจมเวียนรอบศีรษะ เป็นต้น ถ้าทำกับคนจำนวนมาก จะมีด้ายสายสิญจน์โยงไปทั่วบริเวณและแขวนด้ายลงให้ผู้เข้าพิธีนำไปวนรอบ ศีรษะของตน
ทั้งนี้ผู้ประกอบพิธีจะมีทั้งพระภิกษุสงฆ์ และคฤหัสถ์ที่เคยบวชเรียนมาแล้ว โดยมีพระสงฆ์จำนวน 9 รูป อาจารย์ฝ่ายคฤหัสถ์ และผู้เข้าร่วมพิธีสืบชะตา ซึ่งพิธีสะเดาะเคราะห์สืบชะตา ต่ออายุ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
เตรียมเครื่องประกอบพิธีสืบชะตา
พิธีสืบชะตานั้นมี อุปกรณ์ใช้สืบชะตา ในการทำพิธีหลายอย่างด้วยกัน คือ
- กระบอกน้ำ 108 หรือ บางครั้งเท่าอายุ
- กระบอกทราย 108 หรือ เท่ากับอายุ
- บันไดชะตา 1 อัน
- ลวดเงิน 4 เส้น
- ลวดทอง 4 เส้น
- หมากพลูผูกติดเส้นด้ายในลวดเงินลวดทอง 108
- ไม้ค้ำ 1 อัน
- ขัวไข่ (สะพานข้ามน้ำขนาดยาว 1 วา) 1 อัน
- ช่อ (ธงเล็ก) 108
- ฝ้ายค่าคิง จุน้ำมัน (ด้ายยาวเท่ากับตัวผู้สืบชะตา) 1 สาย
- กล้วยมะพร้าว 1 ต้น
- กล้วยดิบ 1 เครือ
- เสื่อ 1 ผืน
- หมอน 1 ใบ
- หม้อใหม่ 2 ใบ (หม้อเงิน หม้อทอง)
- มะพร้าว 1 คะแนง (ทะลาย)
- ธงค่าคิง (ธงยาวเท่าตัว) 1 ผืน
- เทียนเล่มบาท 1 เล่ม
- ด้ายสายสิญจน์ล้อมรอบผู้สืบชะตา 1 กลุ่ม
- บาตรน้ำมนต์ 1 ลูก
- ปลาสำหรับปล่อยไปเท่าอายุผู้สืบชะตา
- นก หรือ ปู หรือ หอย
- พานบายศรีนมแมว 1 สำหรับ
อุปกรณ์ดังกล่าวให้จัดทำเป็นกระโจม 3 ขา กว้างพอที่เจ้าชะตาจะเข้าไปนั่งในนั้นได้ โดยใช้ด้ายสายสิญจน์โยงจากศีรษะไปสู่ยอดกระโจมและดึงไปหาบาตรน้ำมนต์หน้าพระพุทธรูป พระสงฆ์จะถือด้ายสายสิญจน์ขณะสวดมนต์และจะใช้ผูกข้อมือเจ้าชะตาอีกด้วย
กำหนดการ พิธีสืบชะตา
เริ่มจากตั้งเครื่องสืบชะตา จัดโต๊ะหมู่บูชา ตั้งอาสนะสงฆ์ 9 ที่ เจ้าชะตาหรือประธานในงานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประเคนบาตรน้ำมนต์ให้พระสงฆ์ ประเคนขันสืบชะตา ด้ายสายสิญจน์ ประเคนพานอาราธนาศีล บูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล แล้วเจริญพระพุทธมนต์ สมาธรรมและครัวทาน (ขอขมา) เทศนาธรรมสืบชะตา 9 ผูก ประธานสงฆ์มอบเครื่องสืบชะตาให้แก่เจ้าชะตา และคณะ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เจริญไชยมงคลคาถา
ทั้งนี้ พิธีสืบชะตา เป็นความเชื่อมาแต่โบราณ อาจจะมีขั้นตอนพิธีกรรมแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ แต่มีจุดร่วม คือ เป็นความเชื่อของชุมชนและชาวบ้านเหมือนกัน
สรุป
พิธีสืบชะตา เป็นพิธีการทางศาสนาและไสยศาสตร์ตามความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมายาวนาน มรดกจากบรรพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นพิธีกรรมที่เสมือนเป็นยาวิเศษครอบจักรวาล ที่เชื่อกันว่าสามารถสะเดาะเคราะห์ สืบชะตาต่ออายุผู้คน สืบชะตาต่ออายุบ้านเมือง นิยมทำกันเนื่องในวันเกิด วันได้รับยศศักดิ์ตำแหน่ง วันขึ้นบ้านใหม่ และกุฏิใหม่ ตามวัดสถานที่จัดพิธีสืบชะตาต่าง ๆ ทางภาคเหนือของประเทศไทย
โดยผู้ประกอบพิธีจะมีทั้งพระภิกษุสงฆ์ และคฤหัสถ์ที่เคยบวชเรียนมาแล้ว โดยมีพระสงฆ์จำนวน 9 รูป อาจารย์ฝ่ายคฤหัสถ์ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้เข้าร่วมพิธีสืบชะตาและต่างยึดมั่นและถือปฏิบัติกันประเพณีกันอยู่ เพราะว่ากันว่าทำแล้วชีวิตจะมีความสุข ความเจริญ และช่วยขจัดภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย
เอาเป็นว่าไม่เชื่อ..ก็ไม่ควรลบหลู่ เพราะทุกความเชื่อโปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ ถ้าทำแล้วเกิดความสบายใจ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิ์ใคร ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะลองเข้าร่วมพิธีนี้ดูสักครั้ง สุดท้ายนี้ทางเราก็ขอให้ทุกคนพ้นจากทุกข์ภัย อวยพรขอให้เราทุกคนจับมือร่วมกันผ่านปัญหาบ้านเมืองไปได้ด้วยดีในเร็ววัน