เคยเห็นกันมั๊ย เวลาเดินทาง หรือไปตามสถานที่ต่าง ๆ เราจะเห็นต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ ผูกด้วย ผ้าสามสี บ้าง ผ้าเจ็ดสีบ้าง บางครั้งก็จะตั้งของกินของใช้ให้อีกเสียด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้ Ruay ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมต้องผูกผ้าสามสีด้วย
ผ้าสามสีที่มีการผูกกับต้นไม้เก่าแก่ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่ทำกันมาอย่างช้านาน เพื่อเป็นของถวายให้กับสิ่งที่ผู้ให้เคารพ เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในศาล ต้นไม้ เจดีย์ และเป็นการเคารพสักการะ ขอโชค ขอลาภ ขอเลขขอหวย หรือจะขอคู่ครองก็ยังได้ หลาย ๆ คนย่อมคาใจเหมือนกับ Ruay เมื่ออยากรู้แล้วก็ต้องไปหาคำตอบกัน
สารบัญ
Toggleที่มาของผ้าสามสี
ในสมัยโบราณนั้นกว่าจะได้ผ้าสักผืนมาใช้นั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก มีขั้นตอนที่ละเอียด ใช้เวลา และใช้ความอุตสาหะ เป็นอย่างมากเพื่อที่จะผลิตผ้าขึ้นมาหนึ่งผืน คนโบราณเมื่อทอผ้าได้จนสำเร็จเป็นผืน ก็มักจะมอบผ้าทอมือนั้นให้แก่คนที่ตัวเองรัก เช่น พ่อ แม่ พระ หรือ คนที่เคารพนับถือ จะเห็นว่า ผ้า คือสัญลักษณ์ของความรัก เพราะการทอผ้าขึ้นมาแต่ละผืนต้องใช้ความอดทนอย่างมาก
กว่าจะได้คืบ กว่าจะได้ศอก ต้องนั่งทอกันหลังขดหลังแข็ง เพราะฉะนั้นผ้าที่ทอได้ก็จะมอบให้คนที่ตัวเองรัก พ่อ แม่ ลูก พระ และก่อนที่จะมีศาสนาคนโบราณเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่ ภูเขา แม่น้ำ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอยู่ เพราะฉะนั้นการเอาผ้าไปผูกไปพันรอบๆ สิ่งเหล่านั้นก็เพื่อหวังว่าสิ่งสถิตที่อยู่ในนั้น จะได้ใช้ประโยชน์จากผ้าเหล่านั้นตามความเชื่อไม่ว่าจะวิธีใด ดังนั้น ผ้าทอมือสมัยโบราณ เปรียบเสมือนตัวแทนของความรัก
ผ้าสามสี กับต้นไม้เก่าแก่
เหตุผลหลัก ๆ โดยส่วนใหญ่ที่นำเอาผ้าแพรสามสีไปผูกกับต้นไม้ใหญ่เก่าแก่นั้นมีอยู่ 2 ข้อ คือ
- บูชาผีสาง เทวดา นางไม้ แม่ย่า พ่อปู่ตามความเชื่อโบราณ ซึ่งเห็นได้มากตามต่างจังหวัด และในกรุงเทพมหานครไม่ว่าจะเป็นกลางเมืองหรือชานเมืองเองก็ยังมีอยู่ให้เห็น
- เป็นกุศโลบายของพวกผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ต้องการให้ตัดต้นไม้ (ปริศนาธรรม) โดยถ้าเป็นผ้าแบบจีวรพระ นิยมพันต้นไม้ใหญ่ในป่าคือประเพณี “การบวชต้นไม้” และคนก็จะทราบได้ว่าไม่ควรโค่นต้นไม้ต้นนี้ แต่ถ้าเป็นผ้า 3 สี จะเป็นการแสดงว่า นี้เป็นต้นไม้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ ที่สามารถขอพรได้ โดยสีที่นิยมใช้ทั่วไปนั้นหลักๆ จะเป็นสี เหลือง ชมพู เขียวอ่อ ขาว แดง ฟ้า ไม่นิยมใช้สีดำหรือสีที่โทนเข้มมากๆ เพราะถือว่าเป็นสีที่ไม่เป็นมงคล ส่วนสีที่เป็นโทนอ่อนและสว่างจะสามารถทำให้เห็นและสังเกตได้ง่ายนั่นเอง
เปิดตำนานต้นไม้ใหญ่โผล่ห้องน้ำวัด ..ผ้าสามสีผูกบูชา
ข่าวนี้เป็นที่ฮือฮาอย่างมากมีหลายปีก่อนที่ ห้องน้ำ วัดโพธิ์บางคล้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจของผู้พบเห็น และต่างตั้งคำถามว่าเหตุใดทางวัดจึงสร้างห้องน้ำคร่อมต้นไม้ใหญ่เจ้าอาวาสวัดโพธิ์บางคล้า ต.บางสวน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงต้นไม้ใหญ่ในห้องน้ำที่วัดโพธิ์บางคล้า ว่า
“ต้นไม้ดังกล่าว คือ ต้นมะขามที่อยู่มากับวัดมานาน ต้นมะขามอายุกว่า 50 ปี ย้อนไปเมื่อครั้งที่วัดเตรียมสร้างห้องน้ำ ขนาด 10 ห้อง พร้อมอ่างล้างหน้าและกระจก สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมวัด ในตอนแรกมีคนเสนอให้โค่นต้นมะขามทิ้ง ใช้สร้างทำห้องน้ำ
แต่อาตมาและคณะสงฆ์ในวัดรู้สึกเสียดายต้นมะขามใหญ่ ที่มีร่มเงาให้ความร่มรื่นภายในวัด อีกทั้งต้นมะขามดังกล่าว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาค้างคาวแม่ไก่ทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของวัดบางคล้าแห่งนี้ ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก
จึงได้เสนอให้ช่างก่อสร้างห้องน้ำคร่อมต้นมะขามไว้ในห้องน้ำด้วย เมื่อครั้งสร้างเสร็จใหม่ๆ มีคนเข้ามาใช้บริการห้องน้ำ เข้ามาเห็นรู้สึกแปลกตา นักท่องเที่ยวต่างชาติถ่ายรูปเก็บไว้ มองเป็นเรื่องประหลาดที่เกิดขึ้นในบริเวณวัด
ส่วนคนไทยที่มีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มองว่าต้นไม้อาจมีเทพารักษ์หรือนางไม้สิงสถิตอยู่ เมื่อทำธุระในห้องน้ำแล้วเสร็จจะยกมือไหว้ขอขมา หรือมีชาวบ้านบางคน นำผ้าสีและชุดผ้าไหม นำมาผูกติดอยู่ที่ต้นมะขาม เพื่อบูชา ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อของชาวบ้านเท่านั้น”
แหม่…จะเข้าจะออกห้องน้ำกันทีต้องยกมือไหว้งาม ๆ ก่อนทุกครั้ง คนไทยเรามารยาทดีนะจ๊ะจะบอกให้… นอกจากผ้าสามสีแล้วยังมีผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอกอีกด้วยนะ ที่มาที่ไปของผ้าสีผืนยาวนี้จะไปก็น่าสนใจเช่นกันเป็นอย่างไรนั้นต้องมาดูกัน..
ที่มาผ้า 7 สี 7 ศอก
น่าจะมาจากธรรมเนียมมาตรการวัดของไทยเราที่มีคืบและศอก (1 คืบ เท่ากับ 12 นิ้ว ๑ ศอกเท่ากับ 2 คืบ คือ 24 นิ้ว) เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศอกเป็นการวัดที่มีค่าสูง คนโบราณอาจจะคำนึงต่อไปว่าหนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน แต่ละวันมีเทวดาประจำ เทวดาทั้งเจ็ดมีสีต่าง ๆ กัน คงจะเป็นมงคลถ้าเราจะเคารพและปฏิบัติบูชาต่อท่านทั้ง 7 วัน จึงเกิดเป็นธรรมเนียมการร้อยพวงมาลัย 7 สี 7 ศอกขึ้น
แต่ถ้าตามโบราณจริง ๆ แล้วจะเป็นผ้าแพร 9 สี ซึ่งเป็นตัวแทนของเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 คือ
- พระอาทิตย์ สีแดง
- พระจันทร์ สีขาวนวล
- พระอังคาร สีชมพู
- พระพุธ สีเขียว
- พระพฤหัส สีเหลืองหรือสีหมากสุก
- พระศุกร์ สีฟ้า
- พระเสาร์ สีดำ
- พระราหู สีสัมฤทธิ์
- พระเกตุ สีทอง
โดยปกติแล้วจะใช้ผูกตอนตั้งศาลในภูมิปาโลฤกษ์ หรือ มหัทธโนฤกษ์ เทวีฤกษ์ และราชาฤกษ์ ในกรณีที่หาภูมิปาโลฤกษ์ไม่ได้ แต่ถ้าจะผูกเพื่อถวายการบูชาในวันปกติหลังการสังเวยก็ไม่ต้องดูฤกษ์ เพียงแต่ให้ดูทิศประจำวันในการเข้าไปเท่านั้นเอง
- วันอาทิตย์ ให้เข้าไปทาง ทิศประจิม
- วันจันทร์ ให้เข้าไปทาง ทิศพายัพ
- วันอังคาร ให้เข้าไปทาง ทิศอุดร
- วันพุธ ให้เข้าไปทาง ทิศอิสาน
- วันพฤหัส ให้เข้าไปทาง ทิศบูรพา
- วันศุกร์ ให้เข้าไปทาง ทิศทักษิณ
- วันเสาร์ ให้เข้าไปทาง ทิศอาคเณย์
สรุป
หลาย ๆ คนคงจะหายคาใจแล้วสำหรับที่มาของ ผ้าสามสี นั่นก็คือเป็นความเชื่อมาแต่โบราณ และยังเป็นกุศโลบายของพวกผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ต้องการให้ตัดต้นไม้นั่นเอง นอกจากนี้ผ้าทอมือในสมัยโบราณยังเปรียบเสมือนตัวแทนของความรักอีกด้วย
และการใช้พันผ้าสามสี โดยสีที่นิยมใช้ทั่วไปนั้นหลักๆ จะเป็นสี เหลือง ชมพู เขียวอ่อ ขาว แดง ฟ้า ไม่นิยมใช้สีดำหรือสีที่โทนเข้มมากๆ เพราะถือว่าเป็นสีที่ไม่เป็นมงคล ซึ่งความเชื่อในการผูกผ้านี้นั้นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล