วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง

10 วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลบุญอันสูงสุด แก่ตัวเองและเจ้ากรรมนายเวร

บางทีเจ้ากรรมนายเวรก็มาในรูปแบบ…?? เติมคำในช่องว่างกันเอง เพราะคนเรานี้ย่อมมีเจ้ากรรมนายเวรเป็นของตนที่แตกต่างกัน ซึ่ง “วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง” จะเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้ทำไว้ ส่งไปให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายได้

“เจ้ากรรมนายเวร” คือ ใครก็ได้ที่เราเคยไปสร้างความไม่พอใจให้แก่เขา ไม่ว่าจะเป็นกาย วาจา หรือใจ เจ้ากรรมนายเวรของเราทุก ๆ คน จึงมีได้ทุกภพ ไม่ว่าจะเป็นพรหม เทวดา นางฟ้า สัมภเวสี อสุรกาย พญานาค สัตว์เดรัจฉาน หรือแม้แต่มนุษย์ด้วยกันเอง ญาติพี่น้องและมิตรสหายที่ล่วงลับไป 

แต่ว่าการกรวดน้ำนั้นหากจะให้ผลบุญส่งไปถึงดวงวิญญาณเหล่านั้นจะต้องรู้จัก 10 วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง ด้วย เพื่อให้พวกเขาได้รับอานิสงส์ผลบุญทั้งแก่ตัวเองและเจ้ากรรมนายเวร Ruay จึงมีข้อแนะนำดี ๆ ในการกรวดน้ำมาบอกต่อ

การกรวดน้ำ คืออะไร 

การกรวดน้ำ คือ การตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้ทำไว้แล้ว ส่งไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย พร้อมทั้งรินน้ำให้ไหลลงไปในภาชนะที่รองรับ แล้วเอาไปเทที่พื้นดินอีกต่อหนึ่ง หรือรดที่โคนต้นไม้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการทำบุญกรวดน้ำ โดยวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการกรวดน้ำ ดังนี้

กรวดน้ำ
กรวดน้ำ

  • เพื่อแผ่อานิสงส์แห่งกุศลผลบุญบารมีให้แก่เจ้ากรรมนายเวร บุพกรรม ทุกผู้ทุกนาม ทุกดวงวิญญาณที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินก่อกรรมมา ทั้งที่ได้เจตนาและไม่ได้มีเจตนา  ตั้งแต่ในอดีตชาติจนถึงปัจจุบัน และที่จะตามเราไปสู่อนาคตชาติ
  • เพื่อแผ่อานิสงส์แห่งกุศลผลบุญบารมีถวายพระพร แด่เทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ที่สถิตประทับบนผืนธรณี  ที่เราได้เหยียบหรือได้อยู่อาศัย
  • เพื่อแผ่กุศลผลบุญบารมีให้แก่ บุพการี  บิดา  มารดา  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ครูอาจารย์  ผู้มีพระคุณ  ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ดี  ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี  รวมไปถึงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ
  • เพื่อแผ่เมตตาให้แก่ดวงวิญญาณข้าทาสบริวาร  ที่ซื่อสัตย์  จงรักภักดี  ที่อาจเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา หรืออาจเคยดูแลช่วยเหลือรับใช้กันมา
  • เพื่อแผ่เมตตาอานิสงส์แห่งกุศลผลบุญบารมีให้แก่สรรพสิ่งดวงวิญญาณสัมภเวสี ดวงวิญญาณพเนจร ดวงวิญญาณเร่ร่อน ดวงวิญญาณเปรต ดวงวิญญาณตายโหง ดวงวิญญาณไร้ญาติขาดมิตร ดวงวิญญาณที่ทุกข์ยากลำบาก
  • เพื่อแผ่เมตตาด้วยอานิสงส์แห่งกุศลผลบุญบารมีให้ถึงแก่ดวงวิญญาณสรรพสัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ที่เคยต้องมาเป็นอาหารและเราได้เคยทำการเบียดเบียนชีวิต
  • เพื่อขอขมากรรม ขอการอโหสิกรรมยกโทษให้อภัยจากเจ้ากรรมนายเวร  บุพกรรมที่กำลังจองเวรจองกรรม  อาฆาตพยาบาท  เบียดเบียน  สาปแช่ง  โกรธแค้น  มุ่งทำร้ายทำลายเราอยู่
  • เพื่อขอท่านเจ้ากรรมนายเวร บุพกรรม โปรดเมตตาให้เราสร้างผลบุญบารมีความดีในชาตินี้ ขอให้ท่านโปรดเปิดทางให้เราได้สั่งสม และสร้างสมอานิสงส์แห่งกุศลผลบุญบารมีให้สำเร็จสัมฤทธิ์ผล โดยปราศจากอุปสรรคขัดขวาง

วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง อย่ากรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวรก่อน!!

“หมอปลา” หรือที่รู้จักกันในนาม “มือปราบสัมพเวสี” ผู้อุทิศตนในการทำพิธีปลดปล่อยวิญญาณไปสู่สุขคติ และช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทน แนะวิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง อันดับแรกควรกรวดให้ตัวเองก่อน แล้วจึงกรวดให้เจ้ากรรมนายเวรในลำดับต่อไป

เทวดาประจำตัว
เทวดาประจำตัว

ซึ่งการกรวดน้ำให้ตัวเองนั้นไม่ใช่ว่าจะเอาผลบุญตัวเองให้ตนเองหรอก แต่ว่าเป็นการแบ่งบุญให้กับเหล่าเทวดาต่างหาก เพราะเราทุกคนมี 2 สิ่ง ที่ตามติดคือ เทวดาประจำตัว และเจ้ากรรมนายเวร ดังนั้นจึงควรให้เหล่าเทพเทวดาประจำตัวได้รับผลบุญก่อน เพราะเทวดาประจำตัวจะช่วยคุ้มครองทำให้เราไม่เจ็บป่วย ไม่เป็นไข้ แคล้วคลาดจากภัยอัตรายต่าง ๆ 

ส่วนเหตุที่เราต้องไม่กรวดให้เจ้ากรรมนายเวรก่อนนั้น เป็นเพราะว่าการเสริมพลังดวงจิตให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่คิดไม่ดีกับเรานั้น อาจมีพลังเหนือกว่าเทวดาประจำตัวได้ หากทำผิดขั้นตอนนั้นอาจจะทำให้ทำบุญไม่ขึ้นนั่นเอง

10 วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลบุญอันสูงสุด 

การกรวดน้ำ หรือการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว นิยมปฏิบัติกันในเวลาทำบุญเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น บวชนาค ทำบุญวันเกิด งานศพ หรือหลังทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน โดย 10 วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง และข้อคำนึงในการกรวดน้ำ ได้แก่

การกรวดน้ำ

มี 2 วิธี คือ 

  • กรวดน้ำเปียก : ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย 
  • กรวดน้ำแห้ง : ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมอธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้

การอุทิศผลบุญ

มี 2 วิธี คือ

  • อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น ชื่อพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ได้
  • อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวม ๆ กันไป เช่น ญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น 

แนะนำให้ทำทั้งสองวิธี คือ ควรอุทิศเจาะจงให้แก่ผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก ส่วนที่เหลือก็สามารถอุทิศไม่เจาะจงรวม ๆ ได้

น้ำสำหรับกรวด

ควรเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีสีและกลิ่น และเมื่อกรวดก็ควรรินลงในที่สะอาด และเทในที่สะอาด ที่สำคัญอย่ารินลงกระโถนหรือที่สกปรก

น้ำเป็นสื่อ ดินเป็นพยาน

การกรวดน้ำ ไม่ใช่จะอุทิศไปให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยาน ให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญ

เวลาในการกรวดน้ำ ควรกรวดน้ำตอนไหนดี

ควรกรวดน้ำทันทีในขณะที่พระอนุโมทนา หรือหลังทำบุญเสร็จ แต่ถ้าไม่สะดวกจะทำตอนหลังก็ได้ แต่ทำในขณะนั้นจะเป็นการดีกว่า ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

  • การกรวดน้ำทันทีในขณะที่พระอนุโมทนา หรือหลังทำบุญเสร็จ ถ้ามีเปรต ญาติ มารอรับส่วนบุญ เขาเหล่านั้นก็ย่อมได้รับในทันที 
  • การรอไปกรวดที่บ้านหรือกรวดภายหลัง บางครั้งก็อาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งใจจะให้ก็ชวดไปด้วย

วิธีรินน้ำ และ ควรรินน้ำตอนไหน 

  • ใช้มือขวาจับภาชนะที่เทน้ำแล้วเริ่มเทน้ำลงไป โดยเริ่มกรวดน้ำขณะที่พระท่านขึ้นต้นบทสวดว่า “ยะถา วะริวะหาปูรา…” โดยเทน้ำไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ขาดสาย 
  • ขณะที่เทน้ำนั้นก็ให้ตั้งจิตอุทิศบุญที่ทำนั้นส่งให้ผู้ที่ต้องการ ให้โดยไม่ต้องกังวลถึงสิ่งใด 
  • ส่วนมืออีกข้างที่ไม่ใช้กรวดน้ำ ระวังอย่าเอามือหรือนิ้วไปขวางทางน้ำที่ไหล เพราะจะเป็นการปิดกั้นกระแสบุญไม่ให้ไหลอย่างสะดวก
  • รินให้หมด เมื่อพระว่ามาถึง “…มะณิโชติระโส ยะถา…” พอพระทั้งหมดรับพร้อมกันว่า “สัพพีติโย วิวัชชันตุ…” เราก็พนมมือรับพรท่านไปจนจบ 

ระวังอย่าให้จิตส่ายและไม่ต้องกลัวว่าพระจะสวดจบบทกรวดน้ำเสียก่อน เพราะสิ่งสำคัญในการส่งบุญก็คือจิตที่แน่วแน่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ถ้าพระยังว่าบทกรวดน้ำไม่เสร็จ แต่เทน้ำหมดแล้วจะทำอย่างไร เวลากรวดน้ำต้องพูดอะไร

ควรใช้บทกรวดน้ำ ที่สั้น ๆ หรือใช้บทกรวดน้ำย่อก็ได้ เช่น 

“อิทัง โน ญาตีนังไหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขอ #อุทิศส่วนบุญ นี้จงสำเร็จแก่ …. (ออกชื่อผู้ล่วงลับ) …. และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด” 

หรือจะใช้แต่ภาษาไทยอย่างเดียวก็ได้ว่า 

“ขออุทิศส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนี้ จงสำเร็จแก่ พ่อ แม่ ญาติ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงได้รับส่วนบุญกุศลครั้งนี้โดยเร็วพลัน และโดยทั่วถึงกันเทอญ” 

ส่วนบทยาว ๆ เราควรเอาไว้กรวดส่วนตัว หรือกรวดในขณะทำวัตร สวดมนต์ รวมกันก็ได้ โดยเวลากรวดน้ำต้องพูดบทกรวดน้ำแบบยาวที่ควรรู้ คือ

ตั้งนะโม 3 จบ

อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา
ด้วยบุญนี้ อุททิศให้ อุปัชฌาย์ ผู้เลิศคุณ

อาจะริยูปะการาจะ มาตาปิตา จะ ญาตะกา
และอาจารย์ ผู้เกื้อหนุน ทั้งพ่อแม่ และปวงญาติ

ปิยา มะมัง สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ
สูรย์จันทร์ และราชา ผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ

พรัหมะมารา จะ อินทา จะ โลกะปาลา จะ เทวะตา
พรหม มาร และอินทราช ทั้งทวยเทพ และโลกบาล

ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
ยมราช มนุษย์มิตร ผู้เป็นกลาง ผู้จองผลาญ

สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม
ขอให้สุขศานติ์ทุกทั่วหน้า อย่าทุกข์ทน บุญผองที่ข้าทำจงอำนวยศุภผล

สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตัง
ให้สุขสามอย่างล้น ให้ลุถึงนิพพานพลัน

อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ
ด้วยบุญนี้ที่เราทำ และอุทิศให้ปวงสัตว์

ขิปปังหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุปาทานะเฉทะนัง
เราพลันได้ ซึ่งการตัด ตัวตัณหา อุปาทาน

เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง
สิ่งชั่วในดวงใจ กว่าเราจะถึงนิพพาน

นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว
มลายสิ้นจากสันดาน ทุก ๆ ภพ ที่เราเกิด

อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโข วิริยัมหินา
มีจิตตรง และสติปัญญาอันประเสริฐ พร้อมทั้งความเพียรเลิศเป็นเครื่องขูดกิเลสหาย

มารา ละภันตะ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม
โอกาส อย่าพึงมี แก่หมู่มารทั้งสิ้นทั้งหลาย เป็นช่อง ประทุษร้ายทำลายล้างความเพียรจม

พุทธาทิปะวะโร นาโถธัมโม นาโถ วะรุตตะโม
พระพุทธผู้วรนาถ พระธรรมที่พึ่งอุดม

นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง
พระปัจเจกะพุทะสมทบ พระสงฆ์ ที่ผึ่งพยอง

เตโสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุ มา
ด้วยอานุภาพนั้น อย่าเปิดโอกาสให้แก่มาร ( เทอญ )

อย่าทำน้ำสกปรกด้วยการเอานิ้วไปรอไว้

ควรรินให้ไหลเป็นสายไม่ขาดระยะ และไม่ควรใช้วิธีเกาะตัวกันเป็นกลุ่ม ถ้าเป็นในงานพิธีต่าง ๆ ให้เจ้าภาพหรือประธานรินน้ำกรวดเพียงคนเดียวหรือคู่เดียวก็พอ นอกนั้นก็พนมมือตั้งใจอุทิศ ไปให้

การทำบุญ และอุทิศส่วนบุญ ควรสำรวมจิตใจ 

อย่าให้จิตฟุ้งซ่าน ปลูกศรัทธา ความเชื่อและความเลื่อมใสให้มั่นคงในจิตใจ ผลของบุญและการอุทิศส่วนบุญย่อมมีอานิสงค์มาก ผลบุญที่เราอุทิศไปให้ ถ้าไม่มีใครมารับก็ยังคงเป็นของเราอยู่ครบถ้วน ไม่มีผู้ใดจะมาโกงหรือแย่งชิงไปได้เลย

บุญเป็นของกายสิทธิ์

ยิ่งให้ยิ่งมาก ยิ่งตระหนี่ยิ่งน้อย ยิ่งอุทิศให้คนอื่นเราก็ยิ่งจะได้ 

กรวดน้ำ ทำไมต้องแตะแขนต่อกัน

กรวดน้ำ
กรวดน้ำ แตะแขนต่อกัน

เรามักเห็นกันบ่อยในปัจจุบันนี้ว่าการกรวดน้ำส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต่อแขนกันเป็นทอด ๆ หลายคน ซึ่งความจริงแล้วไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะการกรวดน้ำ หมายถึง การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลโดยใช้ความตั้งใจไปให้กับผู้ที่ต้องการจะให้มารับบุญ จะเป็นญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หรือเป็นสัมภเวสีที่เราไม่รู้จักก็ได้

เราจะต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก ควรสำรวมจิตใจ อย่าให้จิตฟุ้งซ่าน ถ้าหากว่าไม่มีภาชนะสำหรับ กรวดน้ำ เพียงพอ เราสามารถกรวดน้ำแบบแห้งได้

สรุป

การกรวดน้ำ คือ การตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้ทำไว้ ส่งไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย นิยมปฏิบัติกันในเวลาทำบุญเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการทำบุญ

วิธีการกรวดน้ำที่ถูกต้อง อันดับแรกควรกรวดให้ตัวเองก่อน แล้วจึงกรวดให้เจ้ากรรมนายเวรในลำดับต่อไป หากทำผิดขั้นตอนนั้นอาจจะทำให้ทำบุญไม่ขึ้น ขณะที่เทน้ำนั้นก็ให้ตั้งจิตอุทิศบุญที่ทำนั้นส่งให้ผู้ที่ต้องการ ให้โดยไม่ต้องกังวลถึงสิ่งใด เพราะสิ่งสำคัญในการส่งบุญคือจิตที่แน่วแน่

สุดท้ายนี้หลังทำบุญทุกครั้งก็อย่าลืมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลของเรา ไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรของเรา เพราะนอกจากเป็นการให้แล้ว ยังเพื่อความสบายใจของเราอีกด้วย

Facebook
Twitter
Email