คุณเคยมีความคิดว่า อยากหายไปจากโลกนี้บ้างมั้ย? ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ สื่อต่าง ๆ มีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับการเป็น “โรคซึมเศร้า” ออกมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงควรตระหนักว่า โรคซึมเศร้าใกล้ตัวเรากว่าที่คิด แต่ใช่ว่าเป็นแล้วไม่หาย เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธี ใช้ยาในการรักษาแล้ว โรคซึมเศร้า สวดมนต์ ก็ช่วยบำบัดจิตรักษาให้ดีขึ้นได้
โรคซึมเศร้า คือ อาการป่วยทางใจ เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน เป็นความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย สามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ และจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์
ก่อนที่ Ruay365 จะเข้าสู่เนื้อหา อยากให้ทุกคนลองเช็คอาการของตัวเองหรือสังเกตคนใกล้ตัวก่อนว่า เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลใจกันและหาทางรักษากันต่อไปได้ สังเกตได้โดย…
สารบัญ
Toggleสัญญาณเตือนที่บอกว่าใจเราไม่ไหวแล้ว (เสี่ยงโรคซึมเศร้า)
พูดหรือแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย
มีการโพสต์ข้อความ ภาพ สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้อกับความตาย หรือการฆ่าตัวตาย เช่น เชือก มีด สิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้เป็นอาวุธได้ โดยจะพยายามสื่อสารให้คนรอบข้างเห็น หรือมีข้อความ เช่น มีดหรือเชือก ควรเลือกแบบไหนดี รวมไปถึงการเขียนจดหมายลาตาย การสั่งเสีย ขอโทษผู้คนรอบข้าง
พฤติกรรมการทานอาหารผิดปกติ
รับประทานอาหารน้อยกว่าปกติ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง หรืออาจรับประทานอาหารมากกว่าปกติ อยากอาหาร จนทำให้น้ำหนักขึ้น
ไม่สนุกกับกิจกรรมที่เคยชอบ
เบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยชอบทำ ไม่อยากทำอะไร เก็บตัวอยู่บ้าน ใครชวนไปไหนก็ไม่ไป หรือถ้าไปก็ไม่รู้สึกสนุกอย่างที่เคย
มีความคิดอยากตาย คิดว่าโลกใบนี้ไม่น่าอยู่
คิดอยู่ในหัวว่าไม่อยากอยู่แล้ว อยู่ไปก็ไม่ช่วยอะไรดีขึ้น คิดวนซ้ำ ๆ ตลอดเวลา เศร้า รู้สึกไม่สนุก รู้สึกอยากตายบางช่วง
มีความรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ คิดว่าไม่มีใครช่วยเหลือเราได้
เมื่อเศร้ามาก ๆ ก็จะคิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้แล้ว ไม่อยู่ดีกว่า อยู่ไปก็เป็นภาระคนอื่น ดังนั้นวิธีช่วยสำหรับคนรอบข้าง คือ ทำให้เขารู้ว่าเขายังมีที่พึ่งนะ เราจะยังอยู่ตรงนี้เสมอเพื่อเขา
คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ชีวิตมีแต่ความล้มเหลว
รู้สึกว่าปัญหาที่เกิดเป็นเพราะตัวเอง ทำยังไงก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทำอะไรก็ล้มเหลว ผิดหวังไปหมด โทษตัวเองทุก ๆ อย่าง ยอมรับความเสียใจที่เกิดขึ้นไม่ได้
มีการวางแผนกำหนดวิธี
มีการวางแผนขั้นตอนและกระบวนการในการฆ่าตัวตาย เริ่มคิดแล้วว่าไม่อยากอยู่ โดยจะเริ่มหาวิธีว่าจะตายแบบไหนดี แล้วค่อยหาว่าจะทำอย่างไร และสุดท้ายคือ ลงมือทำ ซึ่ง กระบวนการเหล่านี้มักใช้เวลาคิดไม่นาน ใช้เวลาสั้นมาก อาจจะลงมือในวันนั้นเลยก็ได้ ดังนั้น คนรอบข้างต้องคอยเฝ้าระวังและสังเกตอย่างใกล้ชิดในข้อนี้
หากคุณหรือคนรอบข้างมีอาการอย่างน้อย 2 ถึง 3 ข้อ ควรจะเริ่มดูแลและหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงมากที่โรคสามารถสะสมจนเกิดความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตายได้
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร. จุฑารัตน์ จีนจรรยา นักจิตวิทยาของ ooca
โรคซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
เมื่อสำรวจตัวเองและคนรอบข้างมาประมาณหนึ่งแล้วพบว่า “เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า” อย่างแรกคือต้องยอมรับความจริง มันไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไร คนเป็นโรคนี้ไม่ใช่โรคจิต ไม่ใช่คนบ้า แล้วสามารถปรับตัวได้ จะมาปฏิเสธตัวเองให้เหนื่อยทำไม เพราะการไม่ได้คิดหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นว่าฉันเป็นโรคนี้มันก็ไม่ช่วยอะไร
อย่างนักแสดงสาว ‘ทราย อินทิรา เจริญปุระ’ ที่กล้าเปิดเผยว่าตนเองเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาหลายปีทั้ง ๆ ที่เป็นคนดัง โดยเธอให้สัมภาษณ์ผ่านไลฟ์สดทางช่อง Voice TV ไว้ว่า…
“สำหรับตัวเรา คิดว่าเปิดดีกว่า คุยกันมันง่ายกว่า แต่เราถือว่าเราโชคดีที่คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นน้อง หรือเพื่อนเข้าใจ และเรารู้ว่ามันทุกข์ใจแค่ไหน เวลาที่เป็นแล้วมันบอกใครไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราบอกได้ เราบอกแล้วกัน คือไม่ได้จะทำให้ทุกคนลุกขึ้นมากล้าบอก แต่อยากให้รู้ว่าคนที่เป็นเขาไม่ได้อยู่คนเดียว เขาไม่ได้คิดไปเองว่าเขาป่วย เขาไม่ได้ประหลาดถ้าจะไปหาหมอ อยากให้เขารู้สึกแบบนี้ ไม่ทำให้มันระทมไปกว่าเดิม มันคือโรคโรคหนึ่งอยากให้ทรีทมันอย่างที่มันเป็น”
และคนส่วนใหญ่มองว่า การไปพบจิตแพทย์ อาจเป็นเรื่องที่ฟังแล้วดูรุนแรง หรือมีไว้สำหรับคนบ้า และผู้ป่วยจิตประสาทเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วจิตแพทย์ก็เป็นหมอท่านหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าพบเพื่อขอรับคำแนะนำ เพื่อทำการรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องป่วยถึงขั้นรุนแรง
ซึ่งการรับประทานยาควบคู่ไปกับการบำบัดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นการปรับสมดุลการใช้ชีวิต เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับอาการของโรคทางใจที่มีได้ดียิ่งขึ้น
โรคซึมเศร้า สวดมนต์ ช่วยได้จริงหรือ
หลายประเทศเริ่มมีการศึกษาวิจัยนำเอาธรรมะมาใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการรักษา จากผลการทดลองจากหลาย ๆ แห่ง พบว่าผลตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีนี้ให้ประสิทธิภาพที่ดีไม่แพ้การทานยา
โดยเฉพาะผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์มาร์ค วิลเลียมส์ (Professor J.Mark G.Williams) จิตแพทย์อยู่ที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดประเทศอังกฤษ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย (Center of suicide research) ให้เหตุผลของการฆ่าตัวตายของคนในปัจจุบันส่วนมาก มีสาเหตุมาจากอาการซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษาและดูแลจนอาการลุกลามรุนแรงมากขึ้น
จึงได้ทำการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยการนำเอาศาสตร์การเจริญสติตามหลักพระพุทธศาสนามาใช้ แล้วพบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและสมรรถภาพในการทำงานที่ดีมากขึ้น ในบางรายสามารถหายจากโรคซึมเศร้าและกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข การเจริญสติจะส่งผลให้การทำงานของสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเรียกกันว่า “พุทธวิธีบำบัด” ที่มีทั้งการฝึกสมาธิ ฝึกอานาปานสติ และการสวดบทพระปริตร โดยสิ่งที่ช่วยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่สามารถทำได้ทุกวัน คือ การฝึกสติ ฟังธรรมมะ นั่งสมาธิ และการสวดมนต์ ที่สังเกตเห็นได้ว่าพุทธวิธีนี้สามารถเยียวยาหัวใจผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้จริง จากตัวอย่างการยืนยันเหล่านี้…
โรคซึมเศร้า สวดมนต์ บทไหน (บทสวดมนต์แก้โรคซึมเศร้า)
จริงแล้วพระพุทธศาสนา มีบทสวดมากมายหลายบท แต่ที่ได้ผลที่สุดและมีการทดสอบตามขั้นตอนของการวิจัยต่าง ๆ คือ “บทสวดโพชฌงค์” บทสวดให้หายจากโรคภัย เป็นพุทธมนต์ที่ช่วยให้คนป่วยที่ได้สดับตรับฟังธรรมบทนี้แล้วสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้
เนื่องจากบทสวดโพชฌงค์ มีความแตกต่างจากบทสวดอื่น ๆ ที่ว่าคลื่นเสียงของบทสวดจะมีแค่เสียงสระ มีแค่สองจังหวะ คลื่นเสียงจากบทสวดจึงทำให้เกิดคลื่นที่เยียวยาได้ดีที่สุด ทำให้ผู้ที่ฟังบทสวดนั้นมีความรู้สึกสุขภาวะทางจิตด้านความรู้สึกผ่อนคลาย เป็นมิตร ร่าเริง มีจิตใจเข้มแข็ง และมีสมาธิเพิ่มขึ้น
สวดมนต์อย่างไรให้หายจากโรคซึมเศร้า
การสวดมนต์ด้วยตัวเอง
เป็นการเหนี่ยวนำตัวเองที่ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด หมายความว่าเขากำลังมีความปรารถนาดีต่อตนเอง
- เลือกช่วงเวลาที่ให้ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย อาจเป็นเวลาก่อนเข้านอน
- หาสถานที่ที่สงบเงียบ
- ใช้เวลาในการสวดประมาณ 10-15 นาทีขึ้นไป จะทำให้ร่างกายได้หลั่งสารซีโรโทนิน ได้รับความผ่อนคลายและความศรัทธา
- ขณะสวดมนต์ให้หลับตา สวดให้เกิดเสียงดังเพื่อให้ตัวเองได้ยิน
การฟังผู้อื่นสวดมนต์
เป็นการเหนี่ยวนำโดยคลื่นเสียงจากผู้อื่น เช่น การฟังเสียงพระสวดมนต์ เสียงผู้นำสวดในศาสนาต่าง ๆ หากผู้สวดมีสมาธิ เสียงสวดนั้นจะนุ่ม ทุ้ม ทำให้เกิดคลื่นที่ช่วยเยียวยาผู้ฟัง
การสวดมนต์ให้ผู้อื่น
เมื่อใครสักคนเจ็บป่วย เรามักสวดมนต์อธิษฐานขอให้ความเจ็บป่วยของเขาหายไป เนื่องจากคลื่นสวดมนต์ เป็นคลื่นบวกเกิดจากจิตใจที่ดีงาม ปรารถนาดีต่อผู้ป่วย และเมื่อเราคิดจะส่งสัญญาณนี้ออกไปสู่ที่ไกลๆ มันจะเดินทางไปในรูปของคลื่นไฟฟ้า
ซึ่งมนุษย์มีเซลล์สมองที่สามารถส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าและสารเคมีได้ถึงสิบยกกำลังสิบ คลื่นนี้จึงเดินทางไปได้ไกล ๆ การรับรู้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้รับผู้ส่งด้วย ถ้าคนไหนรับสัญญาณคลื่นแห่งบทสวดมนต์ได้จึงได้ผล
เหมือนเราเปิดวิทยุ ถ้าคนฟังปิดหูก็จะไม่ได้ยิน ดังนั้นถ้าต่างฝ่ายต่างเปิดรับคลื่นบวกที่เราส่งไปผู้ป่วยก็จะได้รับ และทำให้อาการป่วยดีขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องของความมหัศจรรย์ แต่เป็นหลักธรรมชาติทั่วไป
ขอบคุณข้อมูล รศ. สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากนิตรสารชีวจิต
สรุป
คนเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคจิต ไม่ใช่คนบ้า เป็นความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย สามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ และจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์
นอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธี ใช้ยาในการรักษาแล้ว โรคซึมเศร้า สวดมนต์ ก็ช่วยบำบัดจิตรักษาให้ดีขึ้นได้ จากผลวิจัยและการทดสอบต่าง ๆ ระบุว่า การใช้ธรรมะหรือพุทธวิธีส่งผลตอบสนองต่อการรักษาได้อย่างประสิทธิภาพไม่แพ้การทานยา
ทำได้โดยการฝึกสติ ฟังธรรมมะ นั่งสมาธิ และการสวดมนต์ ซึ่งบทสวดมนต์แก้โรคซึมเศร้าที่ได้ผลดีที่สุด คือ “บทสวดโพชฌงค์” เพราะคลื่นเสียงจากบทสวดจึงทำให้เกิดคลื่นที่เยียวยาได้ทำให้ผู้ที่ฟังบทสวดนั้นมีความรู้สึกสุขภาวะทางจิตด้านความรู้สึกผ่อนคลาย
ทั้งนี้ถ้าสิ่งที่ต้องเผชิญ มันหนักหนาเกินกว่าตัวเราจะรับไหว หรือเราสังเกตได้ว่าคนรอบข้างมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย อยากให้ลองเปิดใจกล้าที่จะเข้าปรึกษาจิตแพทย์ และหาวิธีบำบัดจิตใจตนเอง
สิ่งที่พวกเขาต้องการ คือ กำลังใจ การรับฟัง และการโอบกอด ฉะนั้นมิตรภาพและการใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น การเชื่อมต่อพูดคุยคุยสื่อสารกันด้วยคำพูดดี ๆ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญมาก ๆ ทางเราก็ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจดี ๆ ให้ทุกคนที่กำลังประสบกับโรคนี้ ก้าวผ่านวันที่เลวร้ายไปได้ด้วยดี