วันตรุษจีน 2564 ซินเจียยู่อี่ สิ้นเดือนนี้เอาตังค์ไหนใช้ ใกล้เทศกาลเข้ามาทุกที โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 แน่นอนว่าเด็ก ๆ ต้องรอรับอั่งเป่า ส่วนผู้ใหญ่แบบเราที่ทำงานมีรายได้เองแล้วต้องเตรียมซองอั่งเปาไว้แจกลูกหลานนั้น อาจต้องมีหนักอกหนักใจกันบ้างสำหรับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งก่อนที่ Ruay จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเทศกาลวันตรุษจีน และ วิธีการไหว้ตรุษจีนแบบประหยัด เราจะแวะพาไปเปิดดวงกันสักแปป เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในวันปีใหม่จีนนี้
“ซินแสเป็นหนึ่ง” เปิดดวง 5 ปีนักษัตรโชคดีรับ วันตรุษจีน 2564
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 “ซินเแสเป็นหนึ่ง” ซินแสชื่อดังแห่งยุค ได้ทำนายดวงของ 5 ปีนักษัตรที่จะมีโชครับตรุษจีน โดยระบุว่า 5 ปีนักษัตรที่จะโชคดีรับตรุษจีน 2564 ได้แก่
- ปีระกา
- ปีมะเมีย
- ปีวอก
- ปีขาล
- ปีเถาะ
ส่วนปีนักษัตรอื่น ๆ ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเดี๋ยววันนี้ Ruay จะมาบอก วิธีไหว้ตรุษจีน เพื่อเสริมดวงเฮง และความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในลำดับต่อไป
ประวัติ วันตรุษจีน 2564 คือวันอะไร
วันตรุษจีน เป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน (คล้ายกับวันสงกรานต์ของไทย) ที่ชาวจีนและคนเชื้อสายจีนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอย่างมาก และมีการหยุดเป็นเวลา 3-4 วัน เพื่อตระเตรียมการไหว้และจัดงาน
พิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีนนั้น มีมานานกว่าศตวรรษ แต่เดิมเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ และมีการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนนั้น ประเทศจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกพืชผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปีเป็นวันสำคัญที่เรียกว่า “วันตรุษจีน” นั่นเอง
ส่วนกำหนดการวันตรุษจีน จะตรงกับวันที่ใน ปฏิทินจีน คือ วันที่ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินจีน ถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจีน เป็นวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือ วันตรุษจีน โดย 1 คืนก่อนวันปีใหม่จีน คือวันสุดท้ายของปีนั้น จะเป็นคืนที่ครึกครื้นที่สุด ใครที่ไปทำงานห่างจากบ้านเกิด ต่างก็พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะกลับมาฉลองวันปีใหม่ที่บ้าน ช่วงมื้อค่ำคืนก่อนขึ้นปีใหม่จีน ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันพร้อมหน้าล้อมโต๊ะอาหารชนแก้วอวยพรปีใหม่กัน
ในช่วงเวลานี้ทุกบ้านจะเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พอถึงเที่ยงคืน คนจีนทางเหนือก็จะเริ่มทำเกี๊ยว (เจี้ยวจึ) คนจีนทางใต้ก็จะปั้นลูกอี๋ทำน้ำเชื่อม ทำไปชิมไป ทานไปครึกครื้นอย่างยิ่ง เช้าวันรุ่งขึ้น ทุกคนจะตื่นแต่เช้าเยี่ยมเพื่อนบ้านเพื่อนฝูงเพื่ออวยพรปีใหม่ ซึ่งในการไหว้ตรุษจีนและการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะแบ่งได้เป็น 3 วันหลัก ๆ ได้แก่
ปฏิทินวันตรุษจีน 2564
- วันจ่าย 10 กุมภาพันธ์ 2564 – เป็นวันที่ผู้คนจะออกไปจับจ่ายซื้อของไหว้ตรุษจีน เช่น อาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้ ก่อนที่ร้านค้าจะหยุดตรุษจีนกัน
- วันไหว้ 11 กุมภาพันธ์ 2564 – เป็นวันที่ผู้คนจะไหว้เทพเจ้าเพื่อขอพรให้ชีวิตรุ่งเรือง รวมถึงไหว้บรรพบุรุษผู้มีพระคุณเพื่อแสดงถึงความกตัญญู
- วันเที่ยว 12 กุมภาพันธ์ 2564 – เป็นวันที่ผู้คนจะแต่งกายสวยงามด้วยสีสันสดใส เช่น สีแดง แล้วออกไปขอพรญาติผู้ใหญ่ อวยพรด้วยคำพูดดี ๆ และพากันออกเที่ยว ในวันนี้ผู้คนจะหยุดทำงาน และงดทำสิ่งอัปมงคลทุกชนิด
ของไหว้ และวิธีไหว้ตรุษจีน มีอะไรบ้าง
ถึงแม้ปัจจุบันธรรมเนียมประเพณีของวันตรุษจีนอาจมีเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคตามสมัย แต่พิธีกรรมคงเดิมที่ยังคงสืบทอดกันเรื่อยมานั่นก็คือการ ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ผีไม่มีญาติ
ซึ่งอาหารไหว้เจ้าและของไหว้ในวันตรุษจีน จะเน้นของที่มีความหมายดี เป็นมงคล และสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต ประกอบไปด้วย อาหารมงคล ของหวานมงคล และ ผลไม้มงคล โดยจำนวนจะยึดที่ของคาวหรือเนื้อสัตว์เป็นหลัก คือ
- ไหว้ 3 อย่าง (ซาแซ) ประกอบด้วย หมูส่วนสะโพกติดหนัง (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด (พร้อมเครื่องใน) ไก่ (พร้อมเครื่องใน)
- ไหว้ 5 อย่าง (โหงวแซ) ประกอบด้วย หมู (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด(พร้อมเครื่องใน) ไก่(พร้อมเครื่องใน) ปลาทั้งตัว หรืออาหารทะเล (เช่น ปลาหมึกแห้งทั้งตัวไม่ต้องต้ม กุ้งต้มสุก ปูต้มสุก หรือหอยลวกสุก) หรือ ตับ
ส่วนการไหว้ของหวานกับผลไม้ด้วยจำนวนเท่ากันเป็นอย่างน้อย เช่น หากไหว้ของคาว 3 อย่าง ก็จะมีของหวาน 3 อย่าง และผลไม้ 3 อย่าง ไม่น้อยไปกว่านี้
สำหรับชาวไทยนั้นเชื่อว่า ผลไม้มงคล ก็คือผลไม้ที่นิยมในการนำมาไหว้เจ้า ได้แก่ ส้ม ลูกพลับ กล้วยหอม สับปะรด ลำไย ฯลฯ นอกจากนั้นก็ยังมีผลไม้อีกหลายชนิด แต่สำหรับคนจีนแล้วส้มถือเป็นผลไม้มงคลที่นิยมมอบให้กันอย่างมากเพื่อความเป็นมงคล
คนไทยชอบกินขนมหวานกันเป็นชีวิตจิตใจ ในอดีตก็มีความเชื่อเรื่อง ขนมไทยมงคล เช่นกัน โดยขนมส่วนใหญ่นั้นได้แก่ ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก ฯลฯ ส่วนของชาวจีนก็มีขนมถ้วยฟูเช่นกันที่เป็นขนมมงคล กินแล้วจะได้มีกิจการเฟื่องฟูรุ่งเรือง
นอกจากขนม ผลไม้แล้ว คนไทยเราก็ยังเชื่อเรื่อง อาหารมงคล อีกด้วย โดยอาหารที่นิยมกินเพื่อโชคลาภนั้นได้แก่ ผัดไทย ต้มจืด เกี๊ยวทอด ขนมจีนน้ำยา ฯลฯ นอกจากนั้นก็ยังมีความเชื่อของชาวจีนที่เชื่อว่า การกินเส้นนั้นเป็นมงคลอีกด้วย ยิ่งเส้นยืดยาว ชีวิตยิ่งยืนนั่นเอง
วิธีไหว้ วันตรุษจีน 2564
สำหรับ วิธีไหว้ วันตรุษจีน 2564 หากต้องการไหว้เต็มรูปแบบก็จะมี 4 แบบด้วยกัน โดยจะแบ่งเวลาในการไหว้ออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 ไหว้เจ้าที่ (ช่วงเช้า 06.00-07.00 น. ของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564)
ของไหว้เจ้าที่วันตรุษจีน
- ไหว้ 3 อย่าง (ชุดซาแซ) หรือ ไหว้ 5 อย่าง (ชุดโหงวแซ)
- ขนมไหว้ ได้แก่ ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู) คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย) สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
- ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว สื่อถึงธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และซาลาเปาสีชมพู แต้มจุดสีแดง หมายถึง ห่อโชค
- ขนมไหว้พิเศษ ได้แก่ ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงสว่างสดใส รุ่งเรือง
- ผลไม้มงคล เช่น ส้ม กล้วยทั้งหวี (เลือกแบบสีเขียวที่ยังดิบอยู่) องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ สาลี่ เป็นต้น
- เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำชา 5 ที่ อาจมีเหล้าด้วยอีก 5 ที่
- กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้า (หงิ่งเตี๋ย) 5 ชุด
- เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
- กระถางธูป
- ธูปสำหรับไหว้
- แจกันดอกไม้
การจัดของไหว้ และการไหว้เจ้าที่วันตรุษจีน
- น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
- ชุดไหว้ของคาว วางด้านขวามือของผู้ไหว้
- ชุดไหว้ผลไม้ วางด้านซ้ายมือของผู้ไหว้
- ชุดขนมและของหวาน วางต่อด้านหลังจากชุดผลไม้
- ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองให้ใช้ถาดชุดขนมวางทับไว้
- ธูปเทียนปักตามปกติ ใช้เทียน 1 คู่ เจ้าที่ตี่จู่เอี๊ยใช้ธูป 5 ดอก เจ้าที่อื่นๆ ใช้ธูป 3 ดอก เจ้าที่หรือเทพเจ้าประตู (หมึ่งซิ้ง) ใช้ธูป 2 ดอก โดยปักจุดละ 1 ดอก เริ่มปักฝั่งซ้ายก่อน แล้วค่อยปักฝั่งขวา เพื่อบอกกล่าวขออนุญาตให้ท่านเปิดทางให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษของเราเข้ามารับของไหว้ได้ในวันตรุษจีน
ช่วงที่ 2 ไหว้บรรพบุรุษ (ช่วงสาย ไม่เกินเที่ยง ของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564)
ของไหว้บรรพบุรุษวันตรุษจีน
- ไหว้ 3 อย่าง หรือ ไหว้ 5 อย่าง
- ขนมไหว้ ได้แก่ ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู) คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย) สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
- ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว สื่อถึงธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และซาลาเปาสีชมพู แต้มจุดสีแดง หมายถึง ห่อโชค
- ขนมไหว้พิเศษ ได้แก่ ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงสว่างสดใส รุ่งเรือง
- ผลไม้มงคล เช่น ส้ม กล้วยทั้งหวี(เลือกแบบสีเขียวที่ยังดิบอยู่) องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ สาลี่ เป็นต้น
- กับข้าว 5 อย่าง
- ข้าวสวยตักใส่ถ้วยพูน ๆ พร้อมตะเกียบ ตามจำนวนบรรพบุรุษ
- เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำชา 5 ที่ อาจมีเหล้าด้วยอีก 5 ที่
- กระดาษเงิน กระดาษทอง จะต้องมีอ่วงแซจิ่วสำหรับเป็นใบเบิกทางบรรพบุรษให้ลงมารับของไหว้
- ทองแท่งสำเร็จรูป แบงค์กงเต็ก ค้อซี/ก๊อซี ฯลฯ ปริมาณตามสะดวก
- เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
- กระถางธูป
- ธูปสำหรับไหว้
- แจกันดอกไม้
การจัดของไหว้และวิธีไหว้บรรพบุรุษวันตรุษจีน
- น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
- ชุดไหว้ของคาว วางด้านขวามือของผู้ไหว้
- ข้าวสวย ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน พร้อมด้วยตะเกียบ โดยให้ด้ามตะเกียบหันไปที่รูปของบรรพบุรุษ
- กับข้าว 5 อย่าง ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน
- ผลไม้และขนมวางอยู่ในแถวเดียวกัน
- จากนั้นจึงจะเป็นเครื่องกระดาษต่าง ๆ ที่ต้องการจะส่งให้บรรพบุรุษ
- จุดธูปเทียนตามปกติ ใช้เทียน 1 คู่ ธูปคนละ 3 ดอก โดยให้ผู้อาวุโสที่สุดเป็นผู้จุดก่อน
ช่วงที่ 3 ไหว้สัมภเวสี หรือไหว้ผีไม่มีญาติ (ช่วงบ่าย 14.00-16.00 น. ของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564)
ของไหว้ทำทานให้สัมภเวสีในวันตรุษจีน
- จัดเตรียมคล้ายของไหว้บรรพบุรุษตามกำลังทรัพย์ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องมีแค่ไหน
- ควรเปลี่ยนจากน้ำชาเป็นน้ำเปล่าแบบขวด และเหล้าใช้แบบขวดเช่นกัน
- กระดาษเงินกระดาษทอง ตามกำลังทรัพย์
- เกลือและข้าวสารเตรียมแยกไว้สำหรับสาดบริเวณบ้านหลังไหว้เสร็จ
- ประทัดสำหรับจุดหลังไหว้เสร็จ
- เสื่อสำหรับปูรองของไหว้ที่พื้น
การจัดของไหว้และวิธีไหว้ทำทานให้สัมภเวสีในวันตรุษจีน
- จัดเตรียมข้าว ขนม น้ำเปล่า (แบบขวด) เหล้า (แบบขวด) กระดาษเงิน กระดาษทอง โดยวางบนเสื่อปูที่พื้นด้านนอกตัวบ้าน และหันออกนอกตัวบ้าน
- จุดธูป 1 ดอก เวลาไหว้ให้ยืนไหว้ไม่ต้องคุกเข่า
- เมื่อไหว้เสร็จและเก็บของแล้ว ให้สาดเกลือเม็ดกับข้าวสารไปทั่วบริเวณ และจุดประทัด เพื่อไม่ให้มีอะไรตกค้างในบ้าน และเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่เป็นมงคลต่าง ๆ
ช่วงที่ 4 ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (ช่วงดึก คืนวันตรุษจีน)
**สำหรับปี 2564 ฤกษ์ไหว้จะตรงกับเวลา 23.00 น. คืนวันที่ 11 ก.พ. ถึง 05.00 น. วันที่ 12 ก.พ. หรือเริ่มไหว้เวลา 23:01 น. ของวันพฤหัสที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ของไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) วันตรุษจีน
- รูปหรือรูปปั้นเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยสำหรับกราบไหว้
- แจกันดอกไม้สด 1 คู่
- เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
- กระถางธูป
- ธูปสำหรับไหว้
- น้ำชา 5 ถ้วย
- ขนมอี๊(สาคูสีแดง) 5 ถ้วย หรือข้าวสวย 5 ถ้วย
- ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว
- ผลไม้มงคล 5 อย่าง เช่น ส้ม แอปเปิ้ลแดง องุ่นแดง กล้วยหอมทอง สับปะรด ฯลฯ
- เจไฉ่ หรือของเจ 5 อย่าง เช่น ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ วุ้นเส้น เห็ดหอม เห็ดหูหนู
- ชุดกระดาษไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย ประกอบด้วย หงิ่งเตี๋ย 12 ชุด กิมหงิ่งเต้า 1 คู่ เทียงเถ้าจี๊ 1 ชุด เทียบเชิญแดง 1 แผ่น กระดาษสีเขียว 1 แผ่น (เทียบเชิญสีเขียว)
การจัดของไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) วันตรุษจีน
- น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
- สาคูแดงหรือบัวลอยแดง 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
- ถาดผลไม้ 5 อย่างวางเรียงหน้ากระดาน
- ชุดกระดาษไหว้เทพเจ้าโชคลาภ
- แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน
- หากต้องการไหว้เรียกทรัพย์เป็นเคล็ดเพิ่มเติม ให้เตรียมกระเป๋าสตางค์ใบใหม่ไว้ด้วยหรือ สมุดบัญชีเงินฝาก เหรียญ ธนบัตร สำหรับเก็บไว้เป็นเงินขวัญถุง
วิธีการไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) วันตรุษจีน
- ให้ผู้ไหว้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เนื่องจากปี 2564 นี้ท่านเสด็จทางทิศตะวันออก
- จุดธูป 3 ดอก 5 ดอก 9 ดอก หรือ 12 ดอกก็ได้ แล้วกล่าวคำสวดบูชาดังนี้ “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” (3 จบ) จากนั้นสวดบทสักการะว่า “โอม ชัมภาลา จาเลนไน เยโซฮา” (สวด 3 จบ 5 จบ 9 จบ หรือ 12 จบก็ได้)
- จากนั้นให้กล่าวชื่อและนามสกุลของตัวเอง และเรื่องที่จะขอพร (ไม่ควรขอหลายสิ่งมากเกินไป ให้แน่วแน่ขอพรในสิ่งที่อยากได้จริงๆ เป็นหลัก) โดยถือกระเป๋าสตางค์เอาไว้ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดในการเรียกเงินทองและโชคลาภมาสู่กระเป๋า
- จากนั้นนำกระดาษเงินกระดาษทองไปเผา แล้วให้ผู้ใหญ่ผู้อาวุโสในบ้านถือรูปภาพหรือรูปปั้นไฉ่ซิงเอี๊ยพร้อมกระถางธูปเข้าบ้าน เป็นการเชิญเทพเข้าบ้าน
- ของไหว้ถือเป็นของมงคลให้นำไปแบ่งกันรับประทานในครอบครัว อย่านำไปทิ้ง
ข้อห้ามในการไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยช่วงวันตรุษจีน
ไม่ควรให้ผู้ที่เกิดปีชง คือ ปีมะแม ไหว้เป็นคนแรก ควรให้ผู้ที่ไม่ได้เกิดปีชงไหว้ก่อน หากคนในบ้านมีแต่คนเกิดปีชง ให้ถือฤกษ์ไหว้ 03.00 – 05.00 น. ของวันที่ 12 กุมภาพันธ์แทน
สรุป วิธีการไหว้ วันตรุษจีน 2564 แบบประหยัด
สำหรับสภาพเศรษฐกิจช่วงนี้หากใครที่ไม่สะดวกในเรื่องทุนทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องไหว้เต็มรูปแบบทั้ง 4 ช่วงเวลาตามที่ Ruay แนะนำไปก็ได้ สามารถเลือกไหว้เฉพาะเจ้าที่ กับไหว้บรรพบุรุษแค่สองช่วงก็เพียงพอ ส่วนของไหว้สามารถเตรียมได้ตามกำลังทรัพย์เท่าที่มีเลย
เพราะสุดท้ายแล้วการมุ่งเน้นที่การทำความดี รักษาศีล ไม่ทำให้คนอื่นและตัวเองเดือดร้อน ก็จะบังเกิดสิริมงคลในชีวิต และเชื่อว่าจะนำพาทุกท่านผ่านพ้นสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปด้วยดี ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก pinterest
บทความแนะนำอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
- บูชาเทพเจ้ากวนอู เทพแห่งความซื่อสัตย์ โชคลาภ บารมี อย่างไรให้ปัง
- แก้ปีชง 2564 ด้วย วิธีไหว้องค์ไท้ส่วยเอี๊ย เทพเจ้าที่คนเกิดปีชงต้องรู้!
- ปฏิทิน วันขอเงินพระจันทร์ ปี 2564 เคล็ดเรียกเงินเศรษฐี ที่มีแค่เดือนละครั้ง!!
- ชมวัดจีนสุดอลังการ วัดโฝวกวงซัน ไม่ต้องบินถึงไต้หวัน ก็สามารถดูได้
- เผยวิธี การย้ายศาลตี่จู้เอี๊ยะ ที่ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย เสริมดวงเฮง