ประเพณี ‘บุญกฐิน’ ‘บุญเดือนสิบสอง’ งานบุญครั้งใหญ่ของพุทธศาสนิกชนไทย

เข้าช่วงออกพรรษา หลายคนคงจะได้ยินเรื่อง ‘บุญกฐิน‘ กันอยู่บ่อย ๆ ไม่ก็เห็นเพื่อนในเฟสบุ๊คลงภาพอุ้มต้นกฐินกันอยู่บ้าง ถ้าให้เดา.. เชื่อว่าไม่ใช่แค่แอดคนเดียวที่เข้าใจผิด คิดว่าการทอดกฐิน คือการถวายเงินหรือถวายต้นกฐินให้วัด เพราะเรามักจะได้ยินคนประกาศอยู่บ่อย ๆ อย่าง กฐินกองนี้ XXX บาท …ทว่าแท้จริงเเล้วปตุปัจจัยเหล่านั้นเป็นเพียงบริวารของกฐินเท่านั้น การทอดกฐินที่สมบูรณ์ คือการทอดผ้าไตรจีวรต่างหาก ส่วนประเพณีการทอดกฐินไปยังไงมายังไง แล้วมีหลักปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างไรบ้าง วันนี้ไพลินจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจให้ตรงกันค่ะ

ความหมายของ กฐิน

คำว่า ‘กฐิน‘ นั้นเป็นศัพท์ภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง ซึ่งเป็น “กรอบไม้” หรือ “ไม้แบบ” สำหรับขึงผ้า เพื่อเย็บผ้าไตรจีวรในสมัยโบราณ จึงเรียกผ้าที่เย็บด้วยการใช้กฐินหรือไม้สะดึงว่า ‘ผ้ากฐิน’ และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น คำว่า ‘กฐิน’ สามารถแจกแจงความหมาย ได้ดังนี้

3trail
ภาพจาก Palungjit
  • กฐิน เป็นชื่อของกรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร
  • กฐิน เป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อกรานกฐิน (โดยได้มาจากการใช้ไม้แม่แบบขึงเย็บ)
  • กฐิน เป็นชื่อของงานบุญประเพณีถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆ์ เพื่อกรานกฐิน
  • กฐิน เป็นชื่อของสังฆกรรมการกรานกฐินของพระสงฆ์

บุญกฐิน คือ มหาบุญครั้งใหญ่

บุญกฐิน จึงหมายถึง บุญถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาเสร็จแล้ว โดยจะเริ่มมีการทอดกฐินในช่วง 1 เดือนหลังออกพรรษา เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันลอยกระทงนั่นเอง

83e64a24b43f3be394d43c3b6f86d889369112dd585ee79c56bcfd85bc74917e
ภาพจาก Siamrath

ต้นกำเนิดของ บุญกฐิน

ต้นกำเนิดของกฐินมีอยู่ว่า.. พระภิกษุเมืองปาฐา 30 รูป เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่เดินทางไปถึงแค่เมืองสาเกต อีกประมาณ 6 โยชน์ก็จะถึงเมืองสาวัตถีแล้ว แต่ถึงวันเข้าพรรษาก่อน จึงหยุดจำพรรษาที่เมืองแห่งนี้ พอออกพรรษารีบพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ระหว่างทางฝนยังตกหนักมาก ทางเดินเป็นโคลนตมเปรอะเปื้อน ผ้าสบงจีวรจึงเปียกน้ำและเปื้อนโคลนไปด้วย จะหาผ้าผลัดเปลี่ยนก็ไม่มี

เมื่อมาถึงเมืองสาวัตถีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเห็นความยากลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น จึงอนุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้ว กรานกฐินได้และเมื่อกรานกฐินแล้ว จะได้รับอานิสงส์ตามที่กำหนดในพระวินัยถึง 5 ประการ ดังนี้

1.) เข้าบ้านได้โดยไม่ต้องลาภิกษุด้วยกัน 2.) เดินทางโดยไม่ต้องเอาไตรจีวรไปด้วย 3.) ฉันอาหารโดยล้อมวงกันได้ 4.) เก็บอาหารที่ยังไม่ต้องการใช้ ไว้ได้ 5.) ลาภที่เกิดขึ้น ให้เป็นของภิกษุผู้จำพรรษาในวัดนั้น ซึ่งได้กรานกฐินแล้ว

ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐิน

  • จำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐิน สงฆ์ผู้จะให้ผ้ากฐินนั้น จะต้องมีจำนวนอย่างน้อย 5 รูป เพราะจะต้องจัดเป็นผู้รับผ้ากฐิน 1 รูป เหลืออีก 4 รูปจะได้เข้าเป็นองค์คณะ (สงฆ์) ดังนั้นต้องมีพระสงฆ์ 5 รูปขึ้นไป แต่ไม่น้อยกว่า 4 รูป
  • คุณสมบัติของพระสงฆ์ที่มีสิทธิรับกฐิน คือพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ 3 เดือน สามารถให้พระสงฆ์จากวัดอื่นมาสมทบ แต่พระรูปที่มาสมทบจะไม่มีสิทธิในการรับผ้าและไม่มีสิทธิออกเสียงว่าจะถวายผ้าให้กับรูปใด (เป็นเพียงแต่มาร่วมให้ครบองค์สงฆ์เท่านั้น) แต่คณะทายกทายิกาอาจถวายของสิ่งอื่นได้
  • กำหนดกาลที่จะทอดกฐิน การทอดกฐินนั้นทำได้ภายในเวลากำหนด คือ ตั้งแต่วันแรม 1 คำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ก่อนหรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐิน
  • กฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ การที่พระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือโดยอ้อม ด้วยวาจาบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน การทำเช่นนั้นผิดพระวินัย

Owznivhpm51MBjgJu7o O
ภาพจาก Pantip

ประเภทของกฐิน

หากยึดตามพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นประมวลกฎข้อบังคับ เกี่ยวกับข้อพึงประพฤติและปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี รวมถึงมีเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธ ขนบธรรมเนีบม ประเพณีต่าง ๆ นั้น ไม่มีการแจกแจงการทอดกฐินแต่อย่างใด แต่เมื่อพิจารณาจากประเพณีนิยมปฏิบัติแล้ว สามารถจำแนกการทอดกฐินตามระยะเวลาการถวายผ้าไตรจีวร ได้ดังนี้

  • จุลกฐิน หรือ กฐินน้อย เป็นคำเรียกกฐินที่มีเวลาทำน้อยและทำด้วยความเร่งรีบ เพราะต้องตัดเย็บผ้าไตรจีวรด้วยมือ และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จในเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด พบการทอดกฐินลักาณะนี้เฉพาะในประเทศไทยและลาวเท่านั้น

1538477006 68744
ภาพจาก museumthailand

  • มหากฐิน  หมายถึง การทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมาก ไม่ต้องรีบเร่งทำให้เสร็จภายในวันเดียวเหมือนจุลกฐิน แต่เป็นการรวบรวมจตุปัจจัยไทยธรรมและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นเครื่องประกอบในงานกฐินถวายแก่พระสงฆ์ (มหากฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) โดยมหากฐินนั้นอาจเป็นกฐินที่มีเจ้าภาพเพียงคนเดียวหรือกฐินสามัคคีก็ได้

การทอดกฐินในประเทศไทย

นอกจากจุลกฐินหรือกฐินน้อย และมหากฐิน ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ในประเทศไทยยังพบทอดกฐินรูปแบบอื่น ๆ และมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้

  • กฐินหลวง ใช้เรียกกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ไปพระราชทานแทน ณ พระอารามหลวงที่กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษ จำนวน 16 วัด ได้แก่  

วัดในกรุงเทพมหานคร

  • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
  • วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
  • วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
  • วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
  • วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
  • วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
  • วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
  • วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
  • วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
  • วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
  • วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
  • วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร

วัดในต่างจังหวัด

  • วัดพระปฐมเจดีย์
  • วัดสุวรรณดาราราม
  • วัดนิเวศธรรมประวัติ
  • วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (พิษณุโลก)

Noname 2
ภาพจาก Matichon

  • กฐินต้น ใช้เรียกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการ หรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์
  • กฐินพระราชทาน คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชบริพาร หรือหน่วยงานราชการต่างๆ นำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงต่างๆ แทนพระองค์ เช่น วัดอนงคาราม วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น

  • กฐินราษฏร์ ใช้เรียกกฐินที่ราษฏร หรือประชาชนผู้มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐินเป็นส่วนตัวหรือเป็นหมู่คณะ แก่วัดต่างๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม (เรี่ยไร) เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้

643630 Topic Ix 1
ภาพจาก watpukadon

  • กฐินสามัคคี กฐินที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันจัดขึ้นเป็นหมู่คณะ และนำไปทอดถวายยังวัดใดวัดหนึ่ง ด้วยความพร้อมเพรียงกัน
  • กฐินทรงเครื่อง ใช้เรียกกฐินที่มีผ้าป่าไปทอดสมทบ เรียกว่า ผ้าป่าหางกฐิน มีมหรสพสมโภชน์เป็นที่สำราญใจในบุญพิธีกฐิน
  • กฐินโจร ใช้เรียกกฐินกฐินที่เจ้าภาพนำไปทอดโดยมิได้ให้ทางวัดทราบล่วงหน้า พอผ่านไปพบวัดใดวัดหนึ่งที่ยังไม่มีกฐิน ไม่มีผู้จองกฐิน  หรือจะหมดเขตกฐินอยู่แล้ว ก็จู่โจมเข้าไปทอดถวายคล้ายกับโจรปล้นมิให้เจ้าของทรัพย์รู้ตัว หรือจะเรียกอีกอย่างว่า กฐินตกค้าง

ขั้นตอนการทอดกฐิน

  • 1.ให้เจ้าภาพองค์กฐินไปจองวัดหรือเลือกวัดที่ต้องการถวายกฐินฐาน แล้วบอกกล่าวกับเจ้าอาวาสวัดให้เรียบร้อย โดยให้แจ้งเจ้าอาวาสท่านตั้งเเต่เนิ่น ๆ ยิ่งเร็วยิ่งดี มิเช่นนั้นจะโดนเจ้าภาพคนอื่นชิงตัดหน้าเสียก่อน
  • 2. หลังจองวัดเรียบร้อยแล้ว ก็ให้กำหนดวันทอดกฐินให้แน่นอน แจ้งทางวัดให้เรียบร้อย เพื่อที่สมภารวัดจะได้ไปแจ้งกับชาวบ้านต่ออีกที ให้มาช่วยกันทำอาหารเลี้ยงพระในวันดังกล่าว ส่วนทางด้านผู้ทอดกฐินก็ให้ไปจัดเตรียม จัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือ ไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามศรัทธา (ถ้าจัดเต็มที่มักมี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร และไตรคู่สวดอีก ๒ ไตร)
  • 3. พอถึงกำหนดวันงาน ปกติแล้วจะจัด 2 วัน เพราะกฐินเป็นงานบุญใหญ่ โดยวันแรกตั้งองค์พระกฐินที่บ้านเจ้าภาพหรือไม่ก็ที่วัด กลางคืนมีการมหรสพ วันรุ่งขึ้นก็เป็นวันทอดกฐิน โดยจะมีการแห่ขบวณรถหรือไม่ก็ขบวณเรือมาในตอนเช้า พร้อมกับเลี้ยงเพลพระ แต่ถ้าตั้งองค์กฐินไว้ที่วัดอยู่แล้วจะแห่งองค์กฐินไปตั้งแต่ตอนเย็นวันแรก

ขั้นตอนการถวายผ้ากฐิน

  • เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว ให้เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐิน นั่งหันหน้าไปฝั่งพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ 
  • เสร็จแล้วแล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ เพื่อกล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ  (ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้ายสายสิญจน์โยงผ้ากฐินเพื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย)
  • จบคำถวายพระสงฆ์รับว่า “สาธุ ” ให้เจ้าภาพประเคนผ้าไตรกฐินและประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ แก่ประสงฆ์ จนเรียบร้อย
  • พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

S  3891557 1

คำถวายผ้ากฐิน

Kum Tawai Kathin 36rvfwe83ky4xi1t1doxds
ภาพจาก oklifefoundation

ความพิเศษของกฐินทาน

กฐินทานนั้นมีความพิเศษและแตกต่างจากทานประเภทอื่น ดังนี้
1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
2. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
4. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษามาแล้ว และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
6. จำกัดคราว คือ วัดหนึ่งแห่งสามารถรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน

การทอดกฐิน ถือเป็นการทำบุญพิเศษคือ ทำได้เพียงปีละครั้งในช่วง 1 เดือนหลังออกพรรษาเท่านั้น นอกจากนี้ยังถือเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ เพราะต้องอาศัยแรงศรัทธาและจตุปัจจัยจากญาติโยมหลายร้อยคน โดยเฉพาะกฐินสามัคคี ดังนั้น อานิสงส์จึงมีหลายประการ กล่าวคือ ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผ้านุ่งห่มใหม่ ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยปัจจัยที่ถวายวัด รวมถึงสร้างกุศลจิตแก่ผู้ทำบุญด้วย

Buddha 01
ภาพจาก rtnakm

สรุป

ประเพณีบุญกฐิน หมายถึง บุญถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาเสร็จแล้ว โดยจะเริ่มมีการทอดกฐินในช่วง 1 เดือนหลังออกพรรษา เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 12 การทอดกฐินนั้นต่างจากการทำทานในรูปแบบอื่น ๆ กล่าวคือ ทำได้ปีละ 1 ครั้งในช่วงหนึ่งเดือนก่อนออกพรรษา และต้องมีพระภิกษุรับกฐินฐานอย่างน้อย 5 รูป ในประเทศไทยมีกฐินหลากหลายรูปแบบทั้งกฐินที่ถวายผ้าจีวรซึ่งตัดเย็บด้วยมือที่เรียกว่าจุลกฐิน และมหากฐิน ซึ่งเป็นกฐินที่ถวายผ้าไตรจีวรที่ทำสำเร็จรูปมาแล้ว ยังไม่นับกฐินประเภทอื่น เช่น กฐินหลวง กฐินพระราชทาน กฐินราษ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการทำกฐินทานนั้นถือเป็นการบุญครั้งยิ่งใหญ่ เพราะนอกจากจะได้เปลี่ยนได้ผ้านุ่งห่มใหม่ให้พระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับสังคมไทยอีกด้วย

Facebook
Twitter
Email