พิธีลอยเรือ ‘อารีปาจั๊ก’ วัฒนธรรมสืบทอดของ ชาวเล อูรักลาโว้ย

หน้าร้อนแบบนี้ เป็นใครก็ต้องนึกถึงทะเลกันทั้งนั้น อยากจะไปใช้ชีวิตตามวิถี ชาวเล ดูสักครั้ง แค่เปิดเข้าเฟสบุ๊กไป เราก็จะได้เห็นการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทะเลเต็มหมด โดยเฉพาะ เกาะหลีเป๊ะ สถานที่ยอดนิยมเป็นพิเศษในช่วงนี้ คนเขาเม้าท์กันว่า ตอนนี้น้ำทะเลใสมาก น่าไปเที่ยว น่าไปชมความงามเป็นที่สุด

แล้วทุกคนรู้กันหรือไม่ว่า ตามเกาะต่างๆ ของ ชาวเล เขามีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือ พิธีลอยเรือ หรือ อารีปาจั๊ก ประเพณีเก่าแก่ หาดูได้ยากของของชาวอูรักลาโว้ย เหมือนกับเป็นพิธีไหว้บรรพบุรุษ มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเล ใครอยากรู้แล้วว่า มันเป็นยังไง ก็ตามดูอ่านกันเลย

พิธีลอยเรือ

อูรักลาโว้ย คือใคร

อูรักลาโว้ย (Orang Laut) หมายถึง คนทะเล (sea – gypsy) ชนเผ่าดั้งเดิมของห้วงน้ำอันดามัน เป็นชาวเลกลุ่มใหญ่ มีถิ่นฐานอยู่บนเกาะสิเหร่ และ หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ไปจนถึงทางใต้ของเกาะพีพีดอน เกาะจำ เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่, เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะราวี จังหวัดสตูล และ บางส่วนที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย

ชาวทะเล

ชาวอูรักลาโว้ย มีภาษาที่แตกต่างจากกลุ่มมอแกนและมอแกลน แม้ว่าจะอยู่ในตระกูลออสโตรนีเชียนเหมือนกันก็ตาม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง รับจ้างทำสวน และอาชีพอื่นๆ มักเรียกตัวเองว่า ‘ไทยใหม่’ โดยมีพิธีกรรมสำคัญประจำชนเผ่า ก็คือ พิธีลอยเรือ ‘อารีปาจั๊ก’ เพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้าย ให้ออกไปจากเกาะให้หมด และยังเป็นการไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย

พิธีลอยเรือ ‘อารีปาจั๊ก’

เรืออารีปาจั๊ก

พิธีลอยเรือ หรือพิธีอารีปาจั๊ก เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของ ชาวเล มีความเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องความเชื่อและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอูรักลาโว้ย พิธีกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เรียกวิญญาณบรรพบุรุษกลับมาบ้าน และเป็นการส่งสัตว์ไปเพื่อไถ่บาป

เรือปาจั๊ก จะทำขึ้นเฉพาะในพิธีลอยเรือเท่านั้น เป็นเรือที่ทำมาจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ‘ยาน’ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง มีการแกะสลักไม้ระกำอย่างสวยงาม เป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ประดับตามตัวเรือ โดยมีความหมายดังนี้

  • นกที่อยู่หัวเรือ หมายถึง โต๊ะบุหรง หรือบรรพบุรุษที่สามารถห้ามลมห้ามฝนได้
  • ลายฟันปลา หมายถึง โต๊ะบิกง หรือบรรพบุรุษที่เป็นฉลาม
  • ลายงู หมายถึง โต๊ะอาโฆะเบอราไตย หรือบรรพบุรุษที่เป็นงู

นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆ อีกมากมายภายในเรือ อาทิ ตุ๊กตาไม้ระกำ ช่วยนำเคราะห์ ความโศกเศร้า โรคภัย ของสมาชิกในแต่ละครอบครัวให้เดินทางไปกับเรือ และเครื่องเซ่นต่างๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานเดิมที่เรียกว่า ‘ฆูนุงฌึไร’

arepajuk ceremony with local people

ภายในพิธีกรรม มีการร่ายรำแบบดั้งเดิม คลอไปพร้อมกับบทเพลงเก่าแก่และดนตรีรำมะนา เป็นส่วนที่ทำให้เกิดความเร้าใจ และยังเป็นการรำถวายต่อบรรพบุรุษ ที่เชื่อว่าทำไปแล้วจะได้บุญ โดยขั้นตอนของพิธี จะมีหมอผู้นำคอยพาทำพิธี ถือเป็นคนที่คอยสื่อสารระหว่างพระเจ้าและวิญญาณของบรรพบุรุษ ผู้ที่ผ่านการลอยเรือแล้วจะเป็นผู้ที่หมดทุกข์โศกโรคภัย ชีวิตข้างหน้าจะมีแต่เรื่องดีๆ มีความสุขเข้ามาในชีวิต

พิธีกรรมลอยเรือ ‘อารีปาจั๊ก’

พิธีอารีปาจั๊ก

วันขึ้น 13 ค่ำ

  • ตอนเช้า : ชาวเล จะพากันเดินทางไปยังที่ทำพิธี ผู้หญิงทำขนม ผู้ชายสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว
  • ตอนเย็น : ผู้ชายและผู้หญิง จะไปรวมตัวกันที่ศาลบรรพบุรุษ เพื่อนำอาหารไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษ บอกกล่าวให้มาร่วมพิธีลอยเรือ

วันขึ้น 14 ค่ำ

  • ตอนเช้า : ผู้ชายส่วนหนึ่งออกเดินทางไปตัดไม้ เพื่อนำไม้มาทำเรือ ส่วนผู้หญิงจะร้องรำทำเพลงระหว่างรอรับไม้บริเวณชายฝั่ง เมื่อได้ไม้มาแล้วจะพากันตั้งขบวนแล้วแห่ไม้วนรอบศาลบรรพบุรุษ จากนั้นจึงนำไม้มาทำเรือปาจั๊ก
  • ตอนกลางคืน : มีพิธีฉลองเรือโดยการรำรอบเรือ เพื่อถวายแก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ใช้ดนตรีและการรำวงสมัยใหม่ โต๊ะหมอจะทำพิธีในช่วงเริ่มฉลองเรือ และมีพิธีสาดน้ำ ตอนเที่ยงคืน หรือที่ชาวเลเรียกกันว่า ‘เลฮบาเลฮฺ’
มีพิธีฉลองเรือ

วันขึ้น 15 ค่ำ

  • ตอนเช้า : ตื่นกันมาตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนนำเรือไปลอย จะมีการเช็คทิศทางลมให้แน่ใจว่า เรือจะไม่ลอยกลับมาเข้าฝั่ง จากนั้น ก็แยกย้ายไปนอนพักผ่อน
  • ตอนบ่าย : ผู้ชายส่วนหนึ่ง ออกไปตัดไม้และหาใบกะพร้อ เพื่อนำมาทำเป็นไม้กันผี สำหรับทำพิธีฉลองในตอนกลางคืน โดยมีพิธีกรรมเหมือนกับพิธีฉลองเรือทุกอย่าง จนกระทั่งใกล้สว่าง โต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ ทำนายดวงชะตา และ สะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกที่เข้าร่วมพิธี ก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้าน โดยนำไม้กันผีไปปักบริเวณรอบหมู่บ้านด้วย
ชาวบ้านนำเรือไปลอย
ชาวมอแกน คือ

เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดภาษาในภาษาออสโตรนีเซียน ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา

พิธีลอยเรือ หรือ พิธีอารีปาจั๊ก จัดขึ้นช่วงใด

พิธีนี้ใน 1 ปีจะจัดขึ้น 2 ครั้ง ได้แก่ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ของทุกปี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านฤดู ในเดือน 6 เป็นการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน และในเดือน 11 เปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูร้อน

สรุป

พอหน้าร้อนทีไร หลายคนก็เลือกที่จะไปเที่ยวทะเล ไปสัมผัสวิถีชีวิตของ ชาวเล แต่จะมีใครบ้างไหมที่รู้ลึกถึงวัฒนธรรมของชาวเลอย่างพิธีลอยเรือ หรือ อารีปาจั๊ก ที่เป็นพิธีกรรมเก่าแก่โบราณ มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของชาวเล ซึ่งจะจัดขึ้น เพื่อกราบไหว้บรรพบุรุษ และ อวยพรให้ชาวเลที่อยู่บนเกาะทุกคน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำมาหากินสะดวก เรียกว่า เป็นพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของชาวเลโดยตรงเลยก็ว่าได้

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก ผู้จัดการออนไลน์

บทความแนะนำ

Facebook
Twitter
Email