“นางสงกรานต์” คืออะไร? มีไว้ทำไม? ใช่การประกวดสาวงามประจำเทศกาลสงกรานต์รึเปล่า เอ๊ะ! หรือว่ามีตำนานที่มาที่ไปมากกว่านั้นนะ ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรมได้ออกมาเผยภาพ นางสงกรานต์ประจำปี 2564แล้ว โดยในปีนี้พระนางมีนามว่า “รากษสเทวี” เป็นเทพีรูปงามที่นั่งหลับตาอยู่บนหลังวราหะ ถือธนูและทัดดอกบัวหลวงที่หู โดยพระองค์จะนำพาสายฝนมาให้ 400 ห่า และดลบันดาลให้ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า
เอาเป็นว่าถ้าใครยังงงและสงสัยว่า นางรากษสเทวี เป็นใคร? เป็นเทพีหรือความเชื่อจากศาสนาไหน เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์อย่างไร ตาม ruay ไปสืบที่มาตำนาน นางสงกรานต์ทั้ง 7 กันเลย!
“นางสงกรานต์” คืออะไร สำคัญยังไง??
สำหรับความเชื่อเรื่อง “นางสงกรานต์” นั้นถูกบันทึกอยู่บนจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยเป็นความเชื่อที่มีขึ้นเพื่อให้ลูกหลานชาวไทยได้ทราบว่า “วันมหาสงกรานต์ในปีนั้น ๆ ตรงกับวันอะไร?” โดยใช้นางสงกรานต์ทั้ง 7 เป็นตัวแทนของ 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ และยังมาพร้อมกับคำทำนายของโหรพราหมณ์ในแต่ละปีด้วย
อย่างที่เราทราบกันดีว่า วันมหาสงกรานต์ ก็คือวันที่พระอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งในแต่ละปีวันจะไม่ตรงกัน และเมื่อโหรพราหมณ์ของราชสำนักได้ฤกษ์งามยามดีของวันมหาสงกรานต์เมื่อไหร่ ก็จะออกมาประกาศว่าในปีนั้น ๆ นางสงกรานต์องค์ใดจะลงมาอวยพรให้กับโลกมนุษย์บ้าง ซึ่งก็มีตำนานที่มาของนางสงกรานต์ทั้ง 7 กล่าวเอาไว้ดังนี้…
ตำนานนางสงกรานต์ ที่น่ารู้…
ตามเรื่องเล่าบนจารึกวัดพระเชตุพนฯ กล่าวไว้ว่า นางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์ ก็คือธิดาของ “ท้าวกบิลพรหม” ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ลงไปท้าทาย “ธรรมบาลกุมาร” ผู้ที่เก่งกล้าให้เล่นเกมทายคำถาม 3 ข้อกับพระองค์ แล้วถ้าเขาตอบได้พระองค์จะยอมตัดพระเศียรบูชา ในทางกลับกันถ้าตอบไม่ได้เขาก็ต้องตัดศีรษะให้พระองค์เช่นกัน
หลังจากเวลาผ่านไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ จนกระทั่งเขาไปได้ยินนกอินทรีย์พูดกัน ท้ายที่สุดเขาจึงตอบคำถามถูกต้อง และท้าวกบิลพรหมจึงต้องยอมตัดเศียรของพระองค์ แต่ทั้งนี้มีปัญหาตรงที่ว่า ถ้าหากพระเศียรของพระองค์ลอยไปตกที่ไหน ที่นั่นก็จะพบเจอกับภัยพิบัติ หากตกลงในโลกจะเกิดไฟไหม้โลกได้
ท้าวกบิลพรหมจึงได้มอบให้ธิดาทั้ง 7 ทำหน้าที่เปลี่ยนเวรกันถือพานที่มีพระเศียร เดินเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที จากนั้นให้นำพานไปไว้ใน ถ้ำคันธชุลี บนเขาไกรลาศ ซึ่งบนโลกมนุษย์จะเป็นเวลา 365 วันหรือหนึ่งปี เท่ากับการเวียนมาของ “วันมหาสงกรานต์” โดยพอดิบพอดี ดังนั้นทุกปีเมื่อวนกลับมาวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์ทั้ง 7 จึงจะผลัดกันลงมาปรากฏกายและให้พรกับมนุษย์นั่นเอง
นางสงกรานต์ทั้ง 7 ที่มาพร้อมคำทำนาย
หลังจากที่ทราบตำนานกำเนิดนางสงกรานต์ทั้ง 7 ไปแล้ว เราก็ไปดูรูปโฉมของพระธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ผู้ที่จะทำหน้าที่ลงมาอวยพรให้กับโลกมนุษย์ในวันช่วงสงกรานต์กันเลย ซึ่งแต่ละพระองค์จะมีรูปร่าง พาหนะ อาวุธ และคำทำนาย แตกต่างกันดังนี้…
“ทุงษะเทวี” นางสงกรานต์วันอาทิตย์
- พระนาม : ทุงษ, ทุงษะเทวี
- ชื่อล้านนา : นางแพงศรี
- ความสำคัญ : นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
- เครื่องประดับ : ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม)
- ภักษาหาร : อุทุมพร (มะเดื่อ)
- อาวุธคู่กาย : ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือสังข์
- พาหนะคู่กาย : ปฤษฎางค์ครุฑ
- คำทำนายทุงษะเทวี : ถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์ ปีนั้นพืชพันธ์ต่าง ๆ จะไม่ออกดอกออกผลงอกงาม
“โคราคะเทวี” นางสงกรานต์วันจันทร์
- พระนาม : โคราค, โคราคะเทวี
- ชื่อล้านนา : นางมโนรา
- ความสำคัญ : นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
- เครื่องประดับ : มุกดาหาร (ไข่มุก), ดอกปีป
- ภักษาหาร : เตละ (น้ำมัน)
- อาวุธคู่กาย : ข้างขวาถือพระขรรค์ ข้างซ้ายถือไม้เท้า
- พาหนะคู่กาย : พยัคฆ์ (เสือ)
- คำทำนายโคราคะเทวี : ถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันจันทร์ ผู้ที่ทำงานรับราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงคุณหญิงคุณนายจะเรืองอำนาจบารมี
“รากษสเทวี” นางสงกรานต์วันอังคาร
- พระนาม : รากษส, รากษสเทวี
- ชื่อล้านนา : นางรากษสเทวี
- ความสำคัญ : นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
- เครื่องประดับ : มีโมรา (หิน), ดอกบัวหลวง
- ภักษาหาร : โลหิต (เลือด)
- อาวุธคู่กาย : ข้างขวาถือตรีศูล ข้างซ้ายถือธนู
- พาหนะคู่กาย : วราหะ (หมู)
- คำทำนายรากษสเทวี : ถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันอังคาร บ้านเมืองจะเต็มไปด้วยโจรผู้ร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ
“มณฑาเทวี” นางสงกรานต์วันพุธ
- พระนาม : มัณฑา, มณฑาเทวี
- ชื่อล้านนา : นางมันทะ
- ความสำคัญ : นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
- เครื่องประดับ : ไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองเขียว), ดอกจำปา
- ภักษาหาร : นม, เนย
- อาวุธคู่กาย : ข้างขวาถือเหล็กแหลม ข้างซ้ายถือไม้เท้า
- พาหนะคู่กาย : ปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
- คำทำนายมณฑาเทวี : ถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันพุธ ผู้ที่เป็นข้าราชการก็จะได้รับการยกย่องจากชาวต่างชาติต่างถิ่น
“กิริณีเทวี” นางสงกรานต์วันพฤหัสบดี
- พระนาม : กิริณี, กิริณีเทวี
- ชื่อล้านนา : นางงัญญาเทพ
- ความสำคัญ : นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
- เครื่องประดับ : มรกต, ดอกมณฑา (ดอกยี่หุบ)
- ภักษาหาร : ถั่ว, งา
- อาวุธคู่กาย : ข้างขวาถือพระขรรค์ ข้างซ้ายถือปืน
- พาหนะคู่กาย : ปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)
- คำทำนายกิริณีเทวี : ถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันพฤหัสบดี ชั้นผู้น้อยจะพ่ายแพ้ให้กับเอานาจของผู้ที่เป็นใหญ่
“กิมิทาเทวี” นางสงกรานต์วันศุกร์
- พระนาม : กิมิทา, กิมิทาเทวี
- ชื่อล้านนา : นางริญโท
- ความสำคัญ : นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
- เครื่องประดับ : บุษราคัม, ดอกจงกลนี
- ภักษาหาร : น้ำ, กล้วย
- อาวุธคู่กาย : ข้างขวาถือพระขรรค์ ข้างซ้ายถือพิณ
- พาหนะคู่กาย : มหิงสา (ควาย)
- คำทำนายกิมิทาเทวี : ถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันศุกร์ ผู้คนจะพากันล้มป่วย มีฝนตกมากพายุเข้ารุนแรง พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์
“มโหทรเทวี” นางสงกรานต์วันเสาร์
- พระนาม : มโหทร, มโหทรเทวี
- ชื่อล้านนา : นางสามาเทวี
- ความสำคัญ : นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์
- เครื่องประดับ : นิลรัตน์, ดอกสามหาว (ผักตบชวา)
- ภักษาหาร : เนื้อทราย
- อาวุธคู่กาย : ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือตรีศูล
- พาหนะคู่กาย : มยุราปักษา (นกยูง)
- คำทำนายมโหทรเทวี : ถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันเสาร์ บ้านเมืองจะประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ มีผู้ร้ายชุกชุม
คำทำนาย “รากษสเทวี” นางสงกรานต์ 2564
สำหรับนางสงกรานต์ประจำปี 2564 นี้ก็คือ “นางรากษสเทวี” จะเสด็จนั่งหลับตาโดยมีวราหะหรือหมูเป็นพาหนะ ลงมาบนโลกวันที่ 16 เมษายน ถือฤกษ์เวลา 07 นาฬิกา 37 นาที 12 วินาที เป็นฤกษ์ในการเปลี่ยนเข้าสู่จุลศักราชใหม่ของไทยเป็นปี 1383
ส่วนวันมหาสงกรานต์ในปี 2564 จะตรงกับ วันพุธที่ 14 เมษายน ด้วยฤกษ์ในคืนข้ามวันอังคารกับวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 เวลา 3 นาฬิกา 39 นาที 40 วินาที โดยมีคำทำนายจากโหรพราหมณ์กองพระราชพิธี เอาไว้ว่า…
“อธิบดีฝนจะบันดาลให้มีฝนตก 400 ห่า โดยจะตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า และมีฝนตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า มหาชนจะเกิดความร้อนใจ เพราะอาหารและเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) ที่มีน้ำมาก รวมทั้งยังมีนาคให้น้ำ 6 ตัว เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ ๐ ชื่อ “ปาปะ” ส่วนข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน…”
สรุปส่งท้าย
หลังจากได้เห็นรูปภาพ นางสงกรานต์ ประจำวันต่าง ๆ แล้วก็คงจะเห็นว่าแต่ละพระองค์นั้นมีรูปโฉมสวยงามทั้งนั้น แต่ก็แฝงไปด้วยความน่ายำเกรงเช่นกัน เพราะนางสงกรานต์ทั้ง 7 พระองค์เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม ผู้ที่คอยสอดส่องดูแลมนุษย์ โดยตามตำนานนั้นพระองค์ได้ตัดเศียรบูชาให้กับธรรมบาลกุมาร ทำให้ธิดาทั้ง 7 ของพระองค์ต้องมาเวียนกันถือเศียรรอบเขาพระสุเมรุเพื่อไม่ให้ไฟไหม้โลก ดังนั้นเราจึงจะเห็นได้ว่าทุกปีเมื่อพระนางมาเปลี่ยนเวรกัน จึงเกิดนางสงกรานต์ในแต่ละปีขึ้นนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง