คนไทยต้องรู้! ความแตกต่างของ สงกรานต์ 4 ภาค เป็นอย่างไร

ในที่สุดก็ถึงเดือนเมษายน หลายคนน่าจะกำลังรอคอย สงกรานต์ อยู่ หนึ่งในเทศกาลสำคัญของคนไทย และ ยังเป็นเทศกาลที่ทั่วโลกต่างอยากมาเข้าร่วมในเมืองไทยด้วย สำหรับคนไทยแล้ว วันสงกรานต์ ก็คือ วันปีใหม่ไทย อันถือเป็นวันหยุดยาวที่ทุกคนรอคอย หลายๆ คนก็พากันกลับบ้านที่ต่างจังหวัดหรือออกไปเที่ยวกับครอบครัว เป็นวันที่สร้างความสุขให้กับคนไทยจริงๆ

แม้ว่าวันสงกรานต์ จะมีการละเล่นสาดน้ำเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว สงกรานต์ ในแต่ละภาคนั้น มีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งรูปแบบการเล่นสงกรานต์ของแต่ละภาค ก็จะสอดคล้องกับวัฒนธรรมของภาคนั้นๆ ด้วย แล้วสงกรานต์ของแต่ละภาคเป็นอย่างไร ตาม Ruay ไปดูกันเลย

สรงน้ำพระกลางงาน สงกรานต์
ขอบคุณภาพจาก Sukpaiboonwat / Shutterstock.com

สงกรานต์ 4 ภาค

สงกรานต์ภาคเหนือ : ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง

ประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนา หรือ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง มักจะมีการหยุดงานถึง 5 วัน เป็นอย่างต่ำ เพื่อทำการเฉลิมฉลองทางศาสนา พิธีกรรม และการละเล่นต่างๆ

ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง สงกรานต์ ล้านนา
ขอบคุณภาพจาก We Smile Magazine
  • วันที่ 13 เมษายน คือ วันสังขานล่อง

ทุกบ้านจะทำการเก็บกวาดบ้านให้สะอาด รวมไปถึงการชำระล้างสิ่งสกปรกออกไปให้หมด เพื่อต้อนรับเอาสิ่งที่เป็นสิริมงคลเข้ามาในชีวิต มีการชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส สรงน้ำพระ ไหว้ผู้เฒ่าผู้แก่ จากนั้นก็จะออกไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ

  • วันที่ 14 เมษายน คือ วันเนา หรือ วันเน่า

วันนี้ เราจะทำแต่เรื่องที่เป็นมงคล ไม่พูดคำหยาบคาย หรือ ด่าทอกัน มิเช่นนั้น จะถือว่าคนนั้นปากเน่า เจอแต่สิ่งอัปมงคลไปตลอดทั้งปี ในตอนเช้า จะทำการจัดเตรียมของกิน เครื่องใช้ต่างๆ ส่วนตอนบ่าย จะขนทรายเข้าวัด แล้วก่อเป็นเจดีย์ทราย ประดับตุง (ธง) สีสันสดใส ถือคติว่า ผู้บริจาคทาน เมื่อตายไปแล้ว จะได้อาศัยชายธงให้พ้นจากนรก และยังเป็นวันที่หนุ่มสาวจะได้เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน

นอกจากนี้ ยังมีขบวนแห่ ‘ล่องสังขาน’ เป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ไหลไปตามน้ำ และ ‘พิธีค้ำโพธิ์’ เป็นการค้ำจุนศาสนา ถือเอาวันที่ 14 เป็นหลัก โดยถ้าวันที่ 14 ในแต่ละปีตรงกับวันใด ก็จะใช้คนที่เกิดในวันนั้นประกอบพิธี เช่น วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2564 ตรงกับวันพุธ จะใช้คนเกิดวันพุธ นำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ นิยมใช้ไม้กระถิน นำไปปอกเปลือก ทาขมิ้นให้งาม เพื่อใช้ประกอบพิธี

  • วันที่ 15 เมษายน คือ วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก

ชาวบ้านจะพากันจัดสำรับไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ บางคนก็จะนำไปมอบให้ผู้ใหญ่ที่นับถือ เรียกว่า ‘ตานขันข้าว’ ตอนบ่าย จะเป็นการดำหัว หรือ ‘สุมาคารวะ’ ที่ลูกหลานจะมากราบขอขมาต่อผู้ใหญ่ ในสิ่งที่เคยกระทำผิดไป หรือ เป็นการแสดงความกตัญญู

สงกรานต์ ภาคเหนือ
ขอบคุณภาพจาก We Smile Magazine
  • วันที่ 16 เมษายน คือ วันปากปี

เป็นการเริ่มต้นวันปีใหม่ของทางภาคเหนือ จะมีการรดน้ำดำหัวตามวัดต่างๆ และสถานที่ใกล้เคียง ถือเป็นการทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

  • วันที่ 17 เมษายน คือ วันปากเดือน

สงกรานต์วันที่ 5 ของภาคเหนือ จะเป็นการส่งเคราะห์ต่างๆ ให้พ้นไปจากตัวเรา เป็นแบบที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถือเป็นการปิดท้ายประเพณีสงกรานต์แบบล้านนา

สงกรานต์ภาคกลาง : ตรุษสงกรานต์

สงกรานต์ภาคกลาง มีทั้ง 3 วัน ได้แก่

  • วันที่ 13 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์
  • วันที่ 14 เมษายน เป็น วันกลาง หรือ วันเนา แปลว่า ‘อยู่’
  • วันที่ 15 เมษายน เป็น วันเถลิงศก หมายถึง วันขึ้นศักราชใหม่
ตรุษสงกรานต์
ขอบคุณภาพจาก Songkrandayst / WordPress

ในอดีตคนภาคกลางมีความเชื่อว่า ห้ามตักน้ำตำข้าว ห้ามเก็บผัก ห้ามเก็บฝืน ให้เตรียมสำรองไว้ตั้งแต่ก่อนวันสงกรานต์ จะได้ไม่เป็นกังวล เปรียบเทียบกับปัจจุบัน ก็คือ การได้หยุดงานในวันสงกรานต์ โดยในแต่ละปี จะมีการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา จัดจตุปัจจัยถวายพระ การบังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ สรงน้ำพระพุทธ ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย

นอกจากนี้ ยังมีการทำขนมที่ชาวมอญ เรียกว่า ‘กวันฮะกอ’ หรือ ‘กาละแม’ เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้คนในวันเทศกาล ไม่เพียงเท่านั้น วันสงกรานต์ของคนภาคกลาง เป็นวันสำคัญที่คนอายุน้อยกว่า จะได้แสดงความกัญญูต่อผู้ที่อายุมากกว่า โดยจะทำการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ พ่อแม่ หรือ ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ

สงกรานต์ภาคอีสาน : บุญเดือนห้า

บุญเดือนห้า
ขอบคุณภาพจาก Admission Premium

วันสงกรานต์สำหรับชาวอีสาน เป็นเสมือนวันรวมญาติ เพราะทุกคนที่ไปทำงานต่างถิ่น จะได้กลับบ้านไปเจอพ่อแม่พี่น้อง จะมีการจัดทำ พิธีบายศรีสู่ขวัญ และทำพิธีเรียกขวัญลูกหลานกลับบ้าน ชาวอีสานจะมีสิ่งที่ปฏิบัติกันทางสังคมที่เรียกว่า ‘ฮีตสิบสอง’ ที่ทำกันเป็นประจำในทุกปี ประเพณีสงกรานต์ของคนอีสาน จะเรียกว่า ‘บุญสรงน้ำ’ หรือ ‘บุญเดือนห้า’ มาจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก ทำบุญตักบาตรกลางลานในวันตรุษ
  • ระยะหลัง ทำบุญตักบาตรที่ลานบานในวันสงกรานต์
สงกรานต์ ภาคอีสาน
ขอบคุณภาพจาก Sanook

บุญเดือนห้า จะเริ่มจัดขึ้นในเวลาบ่าย 3 โมง มีพระสงฆ์ตีกลองโฮม (รวม) ญาติโยมจัดน้ำอบ น้ำหอม และหาบมารวมกันที่ศาลาโรงธรรม โดยจะทำแบบนี้ไปจนถึงวันเพ็ญ เดือนหก หรือ 1 เดือนเต็มๆ โดยชาวอีสานเชื่อว่า การสรงน้ำผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ใหญ่ที่เราเคารพมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ชาวอีสาน เป็นคนที่มีนิสัยเฮฮา ร่าเริง ทำให้บรรยากาศในวันสงกรานต์มีชีวิตชีวามากเป็นพิเศษ

สงกรานต์ภาคใต้ : ส่งเจ้าเมืองเก่า – รับเจ้าเมืองใหม่

ชาวใต้ โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช เชื่อว่า สงกรานต์ เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาบ้านเมือง ชาวใต้จึงเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่า ‘วันส่งเจ้าเมืองเก่า’ โดยจะทำการชำระล้างร่างกายให้สะอาด รวมไปถึงบ้านเรือน บางคนก็ถือโอกาสทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือนำสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากตัว

ส่งเจ้าเมืองเก่า – รับเจ้าเมืองใหม่
ขอบคุณภาพจาก Smarter Way

วันต่อมา หรือ วันที่ 14 เมษายน เป็น ‘วันเนา’ หรือ ‘วันว่าง’ ชาวใต้จะงดทำพิธีกรรมต่างๆ แต่ยังคงมีการออกไปตักบาตรทำบุญ และสรงน้ำพระพุทธรูป เพราะถือว่า วันนี้ไม่มีเทวดาคุ้มครอง ทุกอย่างมีสภาพว่างเปล่า

วันสุดท้าย หรือ วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า ‘วันรับเจ้าเมืองใหม่’ เชื่อว่า เทวดาองค์ใหม่ได้ย้ายมาดูแลเมืองในวันนี้ ชาวบ้านจะทำการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ๆ จากนั้น จะไปถวายอาหารที่วัด ร่วมกันทำขวัญข้าว รดน้ำ

สงกรานต์ ภาคใต้
ขอบคุณภาพจาก Smarter Way

ช่วงนี้ ชาวบ้านจะพากันนำสากครกมาวางในที่เปิดเผย เอาสากผูกเข้ากับด้ายแดงด้ายขาว ตั้งไว้ในครก แล้วใส่น้ำลงไป เรียกว่า ‘แช่สากแช่ครก’ จัดเตรียมข้าวเหนียว น้ำตาล มะพร้าว ไว้ทำขนม พ่อแม่จัดเตรียมเสื้อผ้าใหม่ๆ ให้ลูกๆ ใส่ในวันว่าง ส่วนผู้ที่เป็นลูกหลาน ก็จัดเตรียมผ้าไว้มอบให้ผู้มีพระคุณ หลังอาบน้ำ หรือ ‘สระหัว’ หากบ้านใดมีพี่น้องมาก ต้องประกอบพิธีใหญ่ เรียกว่า ‘ขึ้นเบจญา’

สรงน้ำพระ สงกรานต์
ขอบคุณภาพจาก เทศบาลตำบลตลิ่งชัน
กาละแม คือ

ขนมไทยลักษณะเป็นแป้งเหนียวสีดำ เป็นขนมหนึ่งในสามชนิดที่นิยมทำขึ้นในวันปีใหม่ของคนไทยในสมัยก่อน ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์ เพราะขนมชนิดนี้ต้องช่วยกันทำ จึงถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยมิตรไมตรีเป็นความดีงามในชีวิตภายภาคหน้าสืบต่อไป

นครศรีธรรมราช คือ

จังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยจังหวัดนี้เป็นเมืองโบราณที่มีความสําคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และศาสนามากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คําว่า “นครศรีธรรมราช” มาจากสร้อยพระนามของปฐมกษัตริย์ ผู้ครอง นครศรีธรรมราช คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แปลว่า “นครอันงานสง่าแห่ง พระราชาผู้ทรงธรรม” และธรรมของราชา แห่งนครนี้ก็คือ ธรรมแห่ง พระพุทธศาสนา

สรุป

แม้ว่าเราจะอยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน แต่ว่า สงกรานต์ ของแต่ละภาคนั้น ก็มีความแตกต่างกันไป ตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น โดย ภาคเหนือ เรียกว่า ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง, ภาคกลาง เรียกว่า ตรุษสงกรานต์, ภาคอีสาน เรียกว่า บุญสรงน้ำ และ ภาคใต้ เรียกว่า ส่งเจ้าเมืองเก่า – รับเจ้าเมืองใหม่ นอกจากชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปแล้ว ยังรวมไปถึงการละเล่นหรือการจัดงานประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภาค ก็ต่างกันออกไปเช่นกัน

บทความแนะนำ

Facebook
Twitter
Email